นายกฯ จี้แบงก์รัฐเร่งปล่อยกู้ SMEหลังต่ำเป้า/ตั้ง"กรณ์"นำแก้สภาพคล่องผู้ส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 15, 2009 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.)ว่า นายกรัฐมนตรีได้แนวทางกับสถาบนการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้เร่งรัดการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หลังยอดการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมาต่ำกว่าเป้าหมาย

ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) มีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ 2.6 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้ปล่อยสินเชื่อไปได้เพียง 4.85 พันล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL), คืนเงินไม่ตรงเวลา และมีปัญหาเรื่องบุคคลค้ำประกัน

ขณะที่ธนาคารออมสินมีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ 1.1 หมื่นล้านบาท และปล่อยไปได้แล้ว 2.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของเป้าหมาย ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) มีเป้าหมายสินเชื่อ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งปล่อยไปได้มากถึง 1.39 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 69%

ส่วนการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ดำเนินการไปได้เพียง 413 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1% เท่านั้น

ทั้งนี้ ที่ประชุม กรอ.ในวันนี้ ยังเห็นว่าควรจะขยายเวลาการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีด้านท่องเที่ยว ที่จะสิ้นสุด 31 ก.ค.นี้ออกไปอีก 1 ปี โดยภาครัฐรับความเสี่ยงโดยการชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ 2% และขอให้ธพว.เร่งกระบวนการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งกรอ.เห็นควรให้แก้ปัญหาธพว.มีสาขาไม่พอ ด้วยการให้ธนาคารออมสินเข้าไปร่วมปล่อยสินเชื่อ

ในส่วนสินเชื่อชะลอการจ้างงานโดยรวมได้อนุมัติไปแล้ว 243 ราย วงเงิน 2,564.14 ล้านบาท และมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.

พร้อมกันนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.)มอบหมายนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง รับดูแลแก้ไขปัญหาการขาดสภาคพล่องของผู้ส่งออก เนื่องจากคู่ค้าไม่เปิด Letter of Credit(LC)ในการสั่งซื้อสินค้า และเริ่มผลักภาระการชำระเงินมายังผู้ประกอบการส่งออก

กรอ.เห็นว่าปัญหาดังกล่าว อาจให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM Bank) เข้าไปช่วยค้ำประกัน และขยายเวลาการชำระเงิน

นอกจากนั้น กกร.ยังรับทราบข้อห่วงใยของภาคเอกชนเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาท โดยเอกชนขอให้มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทให้เหมาะสมทัดเทียมกับคู่ค้าและคู่แข่ง และควรใช้ดัชนีค่าเงินบาท(NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง(REER) เป็นเกณฑ์ชี้วัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ