คลังเผยรสก.ทั้ง 58 แห่งยังไม่พร้อมเข้าตลาด ต้องเร่งปรับองค์กรภายในก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 17, 2009 18:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงคลังไม่กล้าฟันธงรัฐวิสาหกิจรายใดมีคุณสมบัติดีเหมาะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ระบุทั้ง 58 แห่งจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภายในเพื่อแข่งขันกับเอกชนให้ได้ ทิ้งภาพการทำธุรกิจแบบผูกขาด มองปตท.เป็นแบบอย่าง ขณะที่นักวิชาการมองว่า รัฐวิสาหกิจต้องทำงานอย่างโปร่งใส อยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐ และต้องสำนึกว่าเจ้าของคือประชาชน แนะให้ตั้งองค์กรกลางดูแลควบคุมรัฐวิสาหกิจเข้าระเบียบ

นายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง แต่ไม่สามารถกำหนดได้ว่ารัฐวิสาหกิจรายใดสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจหลายแห่งจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภายในเสียก่อน เพื่อให้มีศักยภาพในการเข่งขันกับภาคเอกชน และลดการทำธุรกิจแบบผูกขาด

อย่างไรก็ตาม รัฐวิสาหกิจที่ยังมีอนาคตและสามารถพัฒนาเป็นองค์กรที่เติบโตได้ ได้แก่ กลุ่มพลังงาน กลุ่มสื่อสาร กลุ่มขนส่ง และ ทรัพยากรน้ำ

"รัฐวิสาหกิจต้องยอมรับการปรับเปลี่ยน เพราะปัจจุบันคู่แข่งในภาคเอกชนก็เพิ่มขึ้น พนักงานต้องมีส่วนร่วม และยอมรับการเปลี่ยนแปลง ที่จะนำไปสู่ธุรกิจที่ดีขึ้น อย่ากังวลว่าสถานะของรัฐวิสาหกิจจะเปลี่ยนแปลงและจะเสียประโยชน์"นายอารีพงศ์ กล่าวในงานสัมนา"อนาคตรัฐวิสาหกิจ อนาคตประเทศไทย"

ในเบื้องต้นกระทรวงการคลังต้องการแปรรูปการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารสินทรัพย์ ในส่วนที่ดินที่ รฟท.ถือครอง และ บริษัทจัดการเดินรถ เพื่อจะสามารถสร้างรายได้ และนำเงินมาใช้หนี้ รวมถึงนำมาใช้ในการลงทุนโครงการรถไฟรางคู่ เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสินค้า ที่มองว่าเป็นแนวทางสร้างรายได้ให้กับรฟท. ในอนาคต

ที่ผ่านมายืนยันว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก่อประโยชน์ให้กับภาครัฐ ซึ่งการที่ บมจ.ปตท.(PTT)ได้แปรรูปและเข้าจดทะเบียนหลักทรั้พย์ตั้งแต่ปี 44 ปตท.ได้มีการนำส่งเงินเข้ารัฐเพิ่มขึ้น ทั้งในรูปภาษี และเงินปันผล และสัดส่วนการถือหุ้นของคนไทยก็ไม่ได้ลดลง

ด้านนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานและผู้อำนวยการ โครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการ พัฒนาธรรมภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม กล่าวว่า องค์กรรัฐวิสาหกิจ ควรจะมีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมากำกับดูแล การดำเนินงานให้โปร่งใส และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งมีการนำเสนอผลประกอบการต่อสาธารณชน

"ไม่เชื่อว่าในแนวคิดว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นการขายชาติ แต่การแปรรูปคือการกำหนดขอบเขตการทำงาน และการปรับโครงสร้างธุรกิจ ให้มีประสิทธิภาพ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง ไม่พึ่งพาการอุดหนุนภาครัฐ" นายสังศิต กล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยอมรับว่า รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคเป็นเรื่องยากที่จะแปรรูป เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนจำนวนมาก แต่อยากเห็นการพัฒนาธุรกิจเหล่านี้ที่จะส่งผลดีต่อประเทศ

นายสังศิต กล่าวว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ รวมถึงผู้บริหาร ต้องคำนึงถึงว่ารัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นจากเงินภาคประชาชนที่เข้าไปอุดหนุนผ่านภาษีรัฐ แต่บางแห่งกลับคิดว่ารัฐวิสาหกิจนั้นเป็นของพนักงานและผู้บริหาร รวมถึงผลประโยชน์ทับซ้อนจากฝ่ายการเมือง จึงควรเปลี่ยนแนวคิดและคำนึงเสมอว่า รัฐวิสาหกิจเป็นของประชาชน

ส่วนนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์มีรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียน 6 แห่ง สามารถระดมทุนและออกหุ้นกู้รวมกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นช่องทางให้รัฐวิสาหกิจอื่นเป็นแบบอย่างในการเข้าตลาดหลักทรัย์ เพื่อใช้เป็นแหล่งระดมเงิน และรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะมีธรรมาภิบาลที่ดี มีการตรวจสอบ จากหลายส่วน

ดังนั้น จึงสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจแปรรูปตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ แต่ควรจะแปรรูปในแง่การบริหารจัดการและการมองหาธุรกิจใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ เช่น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่มีการปรับภาพลักษณ์ที่ดี และหากไปรษณีย์ไทยต้องการช่องทางระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจ ตลาดหลักทรัพย์ก็พร้อมเข้าไปสนับสนุน

แต่แนวคิดที่จะให้รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากการกระจายหุ้นต้องมีผลประกอบการที่จูงใจ ดังนั้น รัฐวิสาหกิจควรมีการปรับตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ