คณะกรรมการกำกับดูแลแบงค์จีนย้ำแบงค์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อ ป้องกันความเสี่ยงด้านการเงิน

ข่าวต่างประเทศ Monday July 20, 2009 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการกำกับดูแลธนาคารของจีนได้ผลักดันให้ธนาคารต่างๆควบคุมความเสี่ยงมากขึ้น รวมทั้งปรับโครงสร้างสินเชื่อให้เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงด้านการเงิน หลังจากที่ยอดการปล่อยเงินกู้ของธนาคารของจีนพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วงครึ่งปีแรก

หลิว หมิงกัง ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลธนาคารของจีน กล่าวว่า ยอดการปล่อยกู้ที่พุ่งสูงขึ้นช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และยังทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นด้วยเช่นกันว่า จะมีความเสี่ยงทางการเงินต่างๆตามมาด้วย แม้ว่าแบงค์ของจีนเองก็ระมัดระวังเรื่องการปล่อยเงินกู้อยู่แล้ว แต่ก็ควรจะระมัดระวังความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น อาทิ เงินทุนที่ไม่เพียงพอต่อโครงการลงทุนต่างๆ ความเสี่ยงด้านการเงิน การกระจุกตัวของเงินกู้ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ประธานคณะกรรมการได้เรียกร้องให้ธนาคารต่างๆรับประกันว่าจะมีการใช้ข้อกำหนดขั้นต่ำในเรื่องอัตราเงินทุนที่เพียงพอ และเพิ่มอัตราส่วน provision coverage เหนือระดับ 150% ในปีนี้ โดยเมื่อช่วงสิ้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา อัตราส่วน provision coverage ของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 134.3% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเดือนมี.ค. 10.4%

นอกจากนี้ ประธานคณะกรรมการฯยังได้ขอให้ธนาคารต่างๆปล่อยเงินกู้ให้กับโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนต่อไป รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอี โครงการพัฒนาชนบท โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ต่ำ โครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โครงการอนุรักษ์พลังงาน และโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และธนาคารควรจะคุมเข้มเรื่องการปล่อยเงินกู้แก่อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองและก่อให้เกิดมลพิษสูง รวมทั้งธุรกิจที่มีการผลิตมากจนเกินไป

ทั้งนี้ ยอดการปล่อยเงินกู้ของธนาคารจีนในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้อยู่ที่ 7.37 ล้านล้านหยวน หรือ 1.08 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่รัฐบาลจีนก็ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเป้าตลอดทั้งปีที่ 5 ล้านล้านหยวน

เมื่อช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯระบุว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเงินกู้สร้างความเสี่ยงให้กับธนาคาร และการกระจุกตัวของการปล่อยกู้แก่อุตสาหกรรมบางประเภทก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เสถียรภาพในระบบการเงินเช่นกัน ดังนั้น ขอให้ธนาคารพิจารณปล่อยสินเชื่อร่วม เพื่อแบ่งปันความเสี่ยงร่วมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ