นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนว่า จะมีการนำเสนอ 8 มาตรการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาได้ในเดือน ก.ย.52 ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้ว 85% และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 1 เดือน
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ตั้งเป้าหมายของแผนพัฒนาตลาดทุนที่จะต้องทำให้สัดส่วนมูลค่าตลาดรวมของตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบกับจีดีพีเพิ่มขึ้นถึง 150% ภายในระยะเวลา 4 ปีของแผน จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 2% เท่านั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจมีสัดส่วนอยู่ที่ 10%
มาตรการทั้ง 8 ข้อ ประกอบด้วย 1.ยกเลิกการผูกขาดและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2.การเปิดเสรีและเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันตัวกลาง 3.การปฏิรูประบบกฎหมายสำหรับการพัฒนาตลาดทุน โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการถือหุ้นเพื่อพัฒนาตลาดทุนและส่งเสริมการควบรวมกิจ 4.การปรับระบบภาษีสำหรับการพัฒนาตลาดทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายการลงทุนทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและนักลงทุน
5.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น การตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน, การออกกรรมธรรม์ประกันภัยแบบบำนาญที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ 6.การจัดตั้งระบบการออมเพื่อการชราภาพ(กอช.) เพื่อเปิดให้ผู้มีอาชีพอิสระ หรือผู้ที่อยู่นอกระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ สามารถเข้าถึงการออมในระยะยาว โดยรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณอุดหนุนราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเร่งเสนอกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันภายในปีนี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในต้นเดือนม.ค.ปีหน้า 7.การสร้างวัฒนธรรมการลงทุนผ่านการออมระยะยาวให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และ 8.การพัฒนาตลาดพันธบัตร
รมว.คลัง กล่าวว่า ในส่วนของการปรับระบบภาษีสำหรับการพัฒนาตลาดทุน ได้แก่ คืนสิทธิประโยชน์เรื่องภาษีกรณีที่มีการควบรวมกิจการกับบริษัทที่เคยได้รับสิทธิประโยชน์เรื่องภาษี, ปรับปรุงการยื่นแบบลงทุนในตราสารหนี้ให้เกิดความกระชับ, ขจัดภาระภาษีเงินได้ที่ซ้ำซ้อนกรณีที่เป็นกลุ่มบริษัท, สนับสนุนการลงทุนผ่านตัวกลางเพื่อลดปัญหาการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน, ยกเว้นภาษีกรณีโอนย้ายเงินออมในระบบระยะยาว โดยให้สิทธิเลือกที่จะคงไว้หลังเกษียนหรือลงทุนต่อเนื่องเมื่อเปลี่ยนงาน,
ยกเว้นภาษีกรณีการออมเพื่อการชราภาพ, ยกเว้นภาษีกรณีถือกรมธรรม์แบบบำนาญ, ยกเว้นภาษีกรณีการระดมทุนตามหลักศาสนาอิสลาม, ยกเว้นภาษีการลงทุนในตลาดพันธบัตร และยกเว้นภาษีสำหรับธุรกิจเงินร่วมลงทุน(Venture Capital) ในธุรกิจเอสเอ็มอี โดยลดขนาดวงเงินลงทุนจาก 200 ล้านบาท เหลือ 50 ล้านบาท
"คิดว่ารัฐน่าจะได้ภาษีเพิ่มเข้ามาจากการปรับปรุงระบบภาษี หลังจากผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนก็จะทำให้การทำธุรกิจมีประสิทธิภาพ ทำให้มีผลกำไรสูงขึ้น การปรับปรุงระบบภาษีไม่น่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้" นายกรณ์ กล่าว