รมว.คมนาคม ดันรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีส้ม 1.4 แสนลบ.เข้าครม.ภายในส.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 20, 2009 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.คมนาคม สนองนโยบายนายกรัฐมนตรี รับลูกเตรียมดันโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงปากเกร็ด-มีนบุรี และสายสีส้ม ช่วงบางบำหรุ-มีนบุรี มูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาภายในเดือน ส.ค.นี้

"โครงการที่มีความจำเป็นและจะเร่งรัดให้ดำเนินการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงปากเกร็ด-มีนบุรี ระยะทาง 29.9 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนประมาณ 31,300 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางบำหรุ-มีนบุรี ระยะทาง 32 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนประมาณ 117,700 ล้านบาท คาดว่าจะสรุปแผนแม่บทเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติภายในเดือนสิงหาคมนี้" นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กำลังจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินโครงการแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

วานนี้(19 ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 2 โครงการในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์

นายประณต สุริยะ รองผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางที่ สนข.จัดทำขึ้นจะมี 12 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวม 838,3000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นแนวเส้นทางเดิมที่เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ และจะมีโครงการเพิ่มเติม 4 เส้นทาง คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงปากเกร็ด-มีนบุรี, โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-พัฒนาการ-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร, โครงการรถไฟฟ้าสีเทา วัชรพล-พระราม 4-สะพานพระราม 9 ระยะทาง 26 กิโลเมตร และโครงการรถไฟฟ้าสายสีดำ ช่วงดินแดง-มักกะสัน-สาธร ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร

ขณะที่นายธีรัชย์ อัตนวานิช ผู้อำนวยการ สำนักบริหารการระดมทุนโครงการลงทุนภาครัฐ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังสามารถจัดหาแหล่งเงินเพื่อมาสนับสนุนการดำเนินโครงการรถไฟฟ้ามูลค่า 8 แสนล้านบาทได้อย่างแน่นอน เพราะการใช้เงินดังกล่าวไม่ได้ใช้ภายในปีเดียว แต่ทยอยดำเนินการ 10-20 ปี ส่วนใหญ่แหล่งเงินจะมาจากงบประมาณ เงินกู้ต่างประเทศและในประเทศ รวมทั้งการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน

"ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการร่วมทุน หรือการให้สัมปทาน โดยหลักการจะให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าและจัดการเดินรถ ซึ่งในอนาคตรัฐอาจต้องเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงเรื่องรายได้ค่าโดยสารให้กับเอกชน เพื่อที่จะสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่จูงใจให้ประชาชนใช้บริการ" นายธีรัชย์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ