นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เสนอให้กำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการกับฝ่ายบริหารให้มีความชัดเจน โดยใช้หลักการของการกำกับดูแลกิจการที่ดีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น การจัดซื้อจัดจ้างที่ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารไม่ควรเป็นหน้าที่ของบอร์ด เพราะอาจทำให้เกิดปัญหา conflict of interest
แนวทางต่อมา คือการให้ทบทวนหลักเกณฑ์การค้ำประกันเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐมีภาระต้องค้ำประกันอย่างต่อเนื่อง โดยให้กระทรวงการคลังไปพิจารณา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกรอบการค้ำประกันเงินกู้ของโครงการลงทุนใหม่ โดยกรณีที่รัฐวิสาหกิจประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ รัฐก็ควรชดเชยผลการขาดทุนโดยตั้งงบประมาณชดเชยให้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อฐานะของรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ดี ได้มีการจำแนกกลุ่มรัฐวิสาหกิจตามการวัดประสิทธิภาพไว้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการดี และมีฐานะการเงินดี เช่น บมจ.ปตท.(PTT), กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาในการดำเนินงาน เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.), การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และ บมจ.การบินไทย(THAI) และกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่เริ่มประสบปัญหาในการดำเนินงาน เช่น การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.), บมจ.กสท.โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที
เนื่องจากรัฐวิสาหกิจที่มีอยุ่ในปัจจุบันมีปัญหาขาดความต่อเนื่องในเรื่องของนโยบายอันเนื่องมาจากเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อย ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเรื่องแรกที่สภาพัฒน์เห็นว่าต้องเร่งดำเนินการ คือ การตั้งคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจนั้นขึ้นก่อน