ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (21 ก.ค.) หลังจากเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีเสถียรภาพ ซึ่งทำให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์เพื่อเลี่ยงความเสี่ยง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลง 0.10% แตะที่ 1.4212 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.4226 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินปอนด์ดิ่งลง 0.52% แตะที่ 1.6457 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.6543 ดอลลาร์/ปอนด์
ดอลลาร์อ่อนตัวลง 0.47% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 93.750 ดอลลาร์/เยน จากระดับของวันจันทร์ที่ 94.190 ดอลลาร์/เยน และอ่อนตัวลง 0.03% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.0666 ดอลลาร์/ฟรังค์ จากระดับ 1.0672 ดอลลาร์/ฟรังค์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.13% แตะที่ 0.8164 ดอลลาร์สหรัฐต่อดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8153 ดอลลาร์สหรัฐต่อดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลง 0.27% แตะที่ 0.6555 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6573 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากการที่เบอร์นันเก้แถลงต่อสภาคองเกรสเมื่อคืนนี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังมีเสถียรภาพ และก่อนหน้านี้เบอร์นันเก้กล่าวให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลว่า เฟดได้ร่างยุทธศาสตร์เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ หลังจากที่เฟดตัดสินใจอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงิน
เฟดสาขาชิคาโกเปิดเผยว่า ดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐอ่อนแอน้อยลงในเดือนมิ.ย. ขณะที่ดัชนีบ่งชี้การผลิตแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับภาวะถดถอย โดยดัชนีกิจกรรมทั่วประเทศอยู่ที่ -1.80 จุดในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นจาก -2.30 จุด ในเดือนพ.ค. และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2008
ขณะที่ ABC News รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐขยับขึ้นในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 19 ก.ค. แต่ความวิตกเกี่ยวกับการจ้างงานและราคา บ้านที่ลดลงยังคงถ่วงความเชื่อมั่นอยู่ในแดนลบ โดยดัชนี Consumer Comfort Index เพิ่มขึ้นสู่ระดับ -50 จุด ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จากระดับ -51 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า
ส่วนค่าเงินปอนด์ได้รับแรงกดดันหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเปิดเผยว่า อังกฤษมียอดขาดดุลงบประมาณถึง 1.3 หมื่นล้านปอนด์ หรือ 2.14 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย. ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ที่ได้มีการเก็บสถิติเมื่อปี 2536 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีหดตัวลง และยอดการขอรับสวัสดิการระหว่างว่างงานปรับตัวสูงขึ้น