"ศูนย์วิจัยกสิกรฯ" มองธุรกิจ รพ.เอกชน H2/52 มีสัญญาณฟื้นตัวจาก H1/52

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 22, 2009 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า รายได้ในช่วงครึ่งปีหลังของโรงพยาบาลเอกชนจะฟื้นตัวดีขึ้น อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้มีจำนวนคนไข้ที่เข้าใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นกว่าปกติมาก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปคือ การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจจะส่งผลเชิงลบต่อจำนวนคนไข้ชาวต่างชาติที่ปรับลดลงอย่างมาก เนื่องจากบางส่วนเกรงว่าจะมาติดหวัดในประเทศไทย ซึ่งสร้างความกังวลให้กับคนไข้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนพอสมควร รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ

โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีคนไข้ต่างประเทศเดินทางเข้ามาน้อยกว่าปีก่อนๆ ประมาณ 10-20% เพราะบางส่วนชะลอการเข้ามารักษาพยาบาลหรือการผ่าตัดออกไป อันเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับสถานการณ์ด้านการเมืองของไทยที่ยังคงขาดเสถียรภาพต่อเนื่องมาในปี 52 และมีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองเป็นระยะๆ กระทบต่อภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลเอกชนในช่วงไตรมาสสอง อัตราการเติบโตจะอยู่ในภาวะใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสแรกหรือลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ทำให้คนไข้มีการเลื่อนหรือกำหนดวันพบแพทย์ออกไปเพื่อเดินทางท่องเที่ยว ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทบต่อคนไข้ต่างประเทศมาก

อนึ่ง ในช่วงไตรมาสแรกปี 2552 พบว่ารายได้จากการดำเนินงานมีทั้งสิ้น 12,737.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้จากการดำเนินงาน 12,724.6 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิมีทั้งสิ้น 1,245.9 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 18.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,523.5 ล้านบาท

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ โรงพยาบาลเอกชนควรให้ความสนใจจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสำหรับคนไข้ชาวต่างประเทศที่พำนักอาศัยหรือทำงานในไทย รวมถึงคนไข้ในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งคนไข้ในประเทศหลายกลุ่มยังคงมีกำลังจับจ่ายใช้สอยพอสมควร ที่น่าสนใจมีอาทิ กลุ่มพนักงานบริษัทและประชาชนทั่วไปที่มีประกันสุขภาพ รวมไปถึงกล่มคนไข้ในประเทศที่ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผู้ได้รับสิทธิจากโครงการประกันสังคม ใน

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนควรหาหนทางควบคุมต้นทุนและลดค่าใช้จ่าย เพื่อชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากการใช้กลยุทธ์การตลาดด้วยการลดราคาค่าบริการในอัตราพิเศษ โดยการปรับลดค่าใช้จ่ายสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การปรับโครงสร้างการบริหารงานองค์กรเพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร รวมถึงการบริหารสินค้าคงคลังประเภทยาและเวชภัณฑ์ไม่ให้มีจำนวนที่มากเกินไป ประการสำคัญคือการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนลูกค้าโดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ร่วมกัน รวมทั้งเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองในการซื้อยารักษาโรค เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ให้มีต้นทุนลดลง และผลจากการลดต้นทุนดังกล่าว จะช่วยรักษาสถานะผลการดำเนินงานของธุรกิจให้มีกำไรภายใต้ปัจจัยเสี่ยงรอบด้านได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ