นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บมจ.แอ๊ดวานซ์ อะโกร กล่าวว่า ยังไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะฟื้นตัวและพลิกกลับมาเป็นบวกได้ เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว
"ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจดีหรือไม่ เพราะตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจเป็นช่วงกับดักสภาพคล่อง" นายวีรพงษ์ กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง ทางรอดเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังอยู่ในภาวะตกต่ำไปอีกระยะ และอาจมีการฟื้นตัวได้บ้างแต่จะชะลอลงอีก เพราะเศรษฐกิจจะมีวงจรการขยายตัวและชะลอตัวในช่วง 6 ปี ดังนั้นการดำเนินนโยบายการดูแลเศรษฐกิจของไทยควรหันไปให้ความสำคัญกับจีนมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว หลังได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในประเทศ รวมถึงการเร่งผลักดันการส่งออก แม้จะต้องใช้เวลาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ควรกำหนดค่าเงินบาทสนับสนุนการส่งออก
"อย่าหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นเร็ว เพราะเศรษฐกิจจะกองกับพื้นไปอีกระยะ เพราะมี cycle ขึ้น 6 ปี ลง 6 ปี ดังนั้นเราต้องมีคิดว่าเราจะอยู่ได้อย่างไร อยากเห็นรัฐบาลมองไปข้างหน้า 4-5 ปีว่ามีเป้าหมายจะทำอะไร ต้องมีเป้าหมายน้อยกว่าเครื่องมือ ประกาศให้ภาคเอกชนรับทราบ แปรยุทธวิธีให้เป็นมากกว่าที่เห็นให้ชัดเจน เพราะเราต้องอยู่กับวิกฤติไปอีกนาน ไม่ใช่แค่ 5-6เดือน...ผมกลุ้มใจกับแบงก์ชาติ ที่บอกว่า เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไม่เกี่ยวกับการส่งออก" นายวีรพงษ์ กล่าว
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือ เร่งด้านการส่งออก สร้างความชัดเจนเรื่องการลงทุน และปัญหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องมีแผนชัดเจน
"ผลงานของรัฐบาลที่ชัดเจนตอนนี้ คือ พ.ร.ก.กู้เงิน 8 แสนล้านบาทเท่านั้น" นายวีรพงษ์ กล่าว
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ความหวังให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวโดยเร็วคงเป็นเรื่องยาก ขณะที่เศรษฐกิจเอเซีย โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกน้อย
ขณะที่นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บล.ภัทร (PHATRA) เชื่อว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวเป็นบวกในไตรมาส 3 ดูได้จากการลงทุนในตลาดหุ้น ส่วนเศรษฐกิจไทยน่าจะเป็น 0% หรือบวกได้เล็กน้อยในไตรมาส 4 แต่มีความน่าห่วงว่าในอนาคตเศรษฐกิจโลกจะขาดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ทำให้ทุกประเทศใช้นโยบายการคลังแก้ปัญหาเช่นเดียวกัน คือ การเพิ่มหนี้สาธารณะ ดังนั้นหากประเทศใดมีปัญหาที่ไม่สามารถบริหารหนี้สาธารณะได้อาจจะกลายเป็นปัญหาที่สร้างความปั่นป่วนได้อีก และสิ่งที่กังวลจะกลายเป็นความเสี่ยงจากภาครัฐเอง ขณะที่มองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะเป็นลักษณะ "W"
ส่วนการเปลี่ยนขั้วในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกจากประเทศที่พัฒนาแล้วมาเป็นประเทศกำลงพัฒนานั้นจะสามารถทำได้เร็วแค่ไหน และการที่ประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในช่วงของการเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักมากขึ้น ดังนั้นการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาทุก 1 ดอลลาร์ จะใช้ทรัพยากรและพลังงานมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว โดยการใช้น้ำมันทุก 1 บาร์เรล จะทำให้จีนผลิตจีดีพีได้ 800 ดอลลาร์ ส่วนไทยผลิตจีดีพีได้ 500 ดอลลาร์ ขณะที่สหรัฐผลิตได้ 1,500 ดอลลาร์
นอกจากนี้ จากความล้มเหลวของระบบสถาบันการเงินในสหรัฐ ที่มีจากการเปลี่ยนระบบสินเชื่อและการบริหารความเสี่ยง จนนำมาสู่ การเกิดแนวทางกำกับดูแลที่มากเกินไป (Over Regulation) และยิ่งมีการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวในธุรกิจสำคัญด้วย จะทำยิ่งทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้าลง
ด้านนายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจโลกตกต่ำ และการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่วงการท่องเที่ยวครดว่าจะทำให้การท่องเที่ยวทั่วโลกลดลง 4% และจากปัจจัยเหล่านี้จึงคาดว่าในปี 52 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยจะลดลงจาก 14.1 ล้านคน เหลือ 10.8 ล้านคน หรือลดลง 22.8% โดยที่รายได้จากการท่องเที่ยว คาดว่าจะลดลง 35% จากที่คาดว่าจะมีรายได้ 540,000 ล้านบาท เหลือเพียง 350,000 ล้านบาท
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวขณะนี้ เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวในบางด้านแล้ว จึงยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 4/52 จะยังขยายตัวเป็นบวกได้ แต่เป็นอัตราไม่มาก ขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักยังมาจากการใช้จ่ายภาครัฐผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และใช้นโยบายกึ่งการคลัง โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอัดฉีดเม็ดเงินสินเชื่อ และใช้นโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ทั้งของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคการส่งออกที่ยังหดตัว เชื่อว่า ค่าเงินบาทยังสามารถสนับสนุนการส่งออกได้ ซึ่งจะต้องดูแลค่าเงินให้เป็นไปตามประเทศเพื่อนบ้านอยู่ไม่ให้เงินบาทแข็งค่าหรืออ่อนค่าเกินไป