โตโยต้า มอเตอร์ เผยจะปิดโรงงานประกอบรถที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัทได้บริหารงานในลักษณะร่วมทุนกับบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (GM) มาเป็นเวลานานถึง 25 ปี แต่หลังจากที่จีเอ็มต้องเข้าสู่ขบวนการพิทักษ์จากการล้มละลายทำให้จีเอ็มตัดสินใจถอนหุ้นจากการร่วมทุนในโรงงานดังกล่าวในที่สุด นับเป็นครั้งแรกที่บริษัทโตโยต้าตัดสินใจปิดโรงงานในต่างประเทศ
บลูมเบิร์กรายงานว่า โรงงานผลิตรถดังกล่าวอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท นิว ยูไนเต็ด มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง หรือ Nummi ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างโตโยต้าและจีเอ็ม โดยโตโยต้าจะเจรจาต่อรองเรื่องระยะเวลาในการปิดโรงงานกับบริษัท มอเตอร์ส ลิควิเดชั่น ซึ่งเป็นบริษัที่รับผิดชอบเรื่องการดูแลสินทรัพย์ที่จีเอ็มต้องการขายตามขบวนการพิทักษาจากาการล้มละลาย
ยอดขายรถในสหรัฐที่ทรุดลงอย่างหนักจนแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2546 นั้น ทำให้โตโยต้าต้องใช้ความพยายามในการเอาตัวรอดเพื่อรักษาโรงงานในอเมริกาเหนือไว้ โดยที่ไม่ต้องมีการปิดโรงงานหรือลดจำนวนพนักงาน ด้านจีเอ็มเคยกล่าวไว้เมื่อเดือนมิ.ย.ว่า บริษัทจะยกเลิกโรงงานประกอบรถ Pontiac Vibes ที่โรงงานของ Nummi และยุติการร่วมทุนตามแผนการปรับโครงสร้างองค์กร
แอรอน แบรกแมน นักวิเคราะห์ของไอเอชเอส โกลบอล อินไซท์ กล่าวว่า หากไม่มีโควต้าการผลิตรถจากจีเอ็มด้วยแล้ว การทำธุรกิจที่โรงงานแห่งนี้ต่อไปก็คงจะไม่คุ้มทุน และหากมีการปิดโรงงานไป โตโยต้าเองก็คงจะได้รับผลกระทบเช่นกัน
โรงงานที่แคลิฟอร์เนียมีความสามารถในการผลิตรถยนต์และรถปิคอัพ 420,000 คันต่อปี และสามารถทำเงินได้เมื่อปี 2535 เพราะได้มีการนำกฎระเบียบเรื่องภาษี แรงงาน และมลภาวะของรัฐแคลิฟอร์เนียมาใช้