กระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียแนะนำให้สายการบินของอินโดนีเซียควบรวมกิจการหรือจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือขึ้น เพื่อช่วยให้สายการบินของประเทศสามารถยกระดับและปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากลได้ เนื่องจากสายการบินของอินโดนีเซียต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการเรียกร้องให้หลายประเทศยกเลิกคำสั่งห้ามสายการบินของอินโดนีเซียบินเข้าไปในน่านฟ้า หลังจากที่เกิดเหตุเครื่องบินตกหลายครั้งก่อนหน้านี้
เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปหรืออียูได้ยกเลิกคำสั่งห้ามสายการบินพีที การูด้า อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสายการบินรายใหญ่สุดของประเทศ และอีก 3 สายการบิน หลังจากที่องค์กรการบินพลเรือนอินโดนีเซียได้ปรับปรุงมาตรฐานต่างๆอย่างมาก แต่สายการบินของอินโดนีเซียอีก 12 สายการบินยังติดคำสั่งห้ามบินเข้ายุโรปอยู่
บลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อที่แล้ว อินโดนีเซียได้ออกกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทต่างๆลงทุนเพื่อปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยและรับประกันเรื่องการจัดหานักบินที่มีประสบการณ์มาทำงานเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาเกิดเหตุเครื่องบินตกในอินโดนีเซียถึง 2,176 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2496 เมื่อเปรียบเทียบกับฟิลิปปินส์ที่มียอดเครื่องบินตก 1,141 ครั้ง ญี่ปุ่น 1,976 ครั้ง ส่งผลให้สายการบินการูด้าต้องขาดทุนถึง 1.5 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนเพราะคำสั่งห้ามบินดังกล่าว
จิม เอคส์ กรรมการผู้จัดการของอินโดสวิส อาวิเอชั่น กล่าวว่า ธุรกิจการบินสามารถดึงดูดเศรษฐีเข้ามาทำธุรกิจได้เป็นจำนวนมากแต่เศรษฐีเหล่านี้ไม่รู้วิธีบริหารธุรกิจ หากต้องการตั้งสายการบินแห่งหนึ่งขึ้นมาในอินโดนีเซีย สิ่งที่จำเป็นก็คือการครอบครองอุปกรณ์ที่มีความทันสมัยกว่า
อินโดนีเซียมีเกาะแก่งทั่วประเทศกว่า 17,100 เกาะ และมีสายการบินเพียง 12 รายที่ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ หลังจากที่ทางการได้ยกเลิกใบอนุญาตสายการบิน 27 สายการบินในเดือนนี้ ซึ่งรวมถึงสายการบินพีที อดัม สกายคอนเน็คชั่น ซึ่งประสบอุบัติเหตุเมื่อเดือนม.ค. 2550 และมีผู้เสียชีวิต 102 ราย