ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค. 52 และสร้างความกังวลมากขึ้นเมื่อมีแนวโน้มแข็งค่าทะลุระดับแนวต้านทางจิตวิทยาที่ระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์ เมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับแรงหนุนที่สำคัญจากการฟื้นตัวของความต้องการเสี่ยงของนักลงทุน การเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดไทยในระดับสูง และกระแสการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ หลังจากบริษัทชั้นนำด้านการเงินหลายแห่งในสหรัฐสามารถพลิกกลับมารายงานผลประกอบการที่เป็นกำไรอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 1-2/52 ขณะที่สถานการณ์ของเศรษฐกิจทั่วโลกบ่งชี้ว่า พัฒนาการของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินได้ผ่านพ้นช่วงที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว
อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของเงินบาทแม้จะแข็งค่าแต่ยังคงมีทิศทางที่เกาะกลุ่มกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ และค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยนับตั้งแต่เดือน มี.ค.52 เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 6.3% นับเป็นอันดับที่ 6 ของในภูมิภาคเอเชีย ตามหลังเงินรูปีอินเดียที่แข็งค่าประมาณ 6.4% เงินดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าประมาณ 6.5% เงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าประมาณ 7.5% เงินรูเปียห์อินโดนีเซียแข็งค่าประมาณ 20.3% และเงินวอนเกาหลีใต้แข็งค่าประมาณ 22.9% ขณะที่ความผันผวนของค่าเงินบาทเป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพค่อนข้างมาก ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า เงินบาทในระยะถัดไปอาจปรับตัวโน้มไปในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 33.75 บาท/ดอลลาร์ในระยะสั้น ท่ามกลางแรงหนุนอย่างต่อเนื่องของปัจจัยหลักหลายปัจจัย ทั้งดุลการค้าไทยที่จะยังเกินดุลในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างน้อย ซึ่งนั่นก็เป็นนัยว่า แรงขายเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ส่งออกอาจจะยังคงมีมากกว่าแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้า
นอกจากนี้ แรงหนุนต่อเงินดอลลาร์เริ่มลดน้อยลง เนื่องจากสัญญาณเชิงบวกของภาคการเงินและเศรษฐกิจของสหรัฐในระยะถัดไป จะเป็นเครื่องชี้สำคัญที่สะท้อนว่า ภาวะที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในรอบนี้ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกทยอยฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ข่าวด้านลบทางเศรษฐกิจจากการพุ่งขึ้นของอัตราการว่างงาน และกระบวนการหาสมดุลในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐ แม้ว่าจะยังไม่สิ้นสุดลงแต่คาดว่าจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น
การรับรู้ข่าวเชิงบวกอย่างรวดเร็วของกระแสการไหลเวียนของเงินลงทุน แม้ว่าเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศในเอเชียจะมีแนวโน้มชะลอตัว หรือติดลบในปีนี้ แต่คาดว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเอเชีย รวมทั้งไทย ในระยะที่เหลือของปีนี้จะเริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้น ซึ่งปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากขึ้นนี้ก็อาจทำให้ตลาดการเงินในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยได้รับอานิสงน์จากกระแสการไหลเวียนของเงินลงทุนกลับเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียด้วยอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทในระยะข้างหน้ายังคงมีโอกาสผันผวนเพิ่มขึ้นตามสภาวะที่ซับซ้อนมากขึ้นของหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระแสการไหลเข้าของเงินทุนสู่ตลาดเงิน-ตลาดทุนไทยตามกระแสของภูมิภาคเอเซีย ต้องเผชิญกับปัจจัยหักล้างจากแนวโน้มการหดแคบลงของดุลการค้าของไทย ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศซึ่งคาดว่าจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4/52 กลายมาเป็นปัจจัยหนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกให้ปรับสูงขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลกระทบทางอ้อมให้มูลค่าการนำเข้าของไทย ต้องเร่งตัวตามต้นทุนสินค้านำเข้าที่อาจเพิ่มขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ ตลาดการเงินยังคงต้องติดตามเป็นพิเศษว่า หลังจากที่วิกฤตในครั้งนี้ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เงินดอลลาร์ จะมีทิศทางอ่อนค่าลงเหมือนกับที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตครั้งก่อนๆ ในปีค.ศ.2001 หรือไม่ รวมทั้งประเด็นที่ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกคงจะทยอยลดน้ำหนักการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ลง
ซึ่งหากเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงแล้ว เงินบาทก็คงจะมีแรงหนุนให้ปรับแข็งค่าขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และการแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าวย่อมจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ขณะที่ ธปท.คงจะเผชิญงานหนักในการรักษาเสถียรภาพและความสามารถในการแข่งขันของเงินบาท โดยเฉพาะหากกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทยยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง