นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินเพิ่มเติมในอีก 2 เรื่อง ได้แก่ การกำหนดกระบวนการที่ชัดเจนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินเพื่อความโปร่งใส
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติและความสามารถของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว(Fit and Proper) โดยได้จำแนกและปรับปรุงคุณสมบัติที่กำหนดไว้เดิม เพื่อเป็นมาตรฐานในการพิจารณาให้ความเห็นชอบมีความชัดเจนขึ้นและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยแบ่งคุณสมบัติออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านความซื่อสัตย์ สุจริต และชื่อเสียง(Honesty, Integrity and Reputation) (2) ด้านความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ (Competence, Capability and Experiences) และ (3) ด้านสถานะทางการเงิน(Financial Soundness)
และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่ ธปท. ให้ความสำคัญสูงสุด โดยเน้นใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการบริหารความเสี่ยง ด้านการดูแลความเพียงพอของเงินกองทุน ด้านการกำกับดูแลกิจการให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของทางการ และด้านการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการที่มีธรรมาภิบาลที่ดี โดยหน้าที่ทั้งสี่ด้านนี้จะเป็นกรอบการกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของกรรมการ
อนึ่ง ตามพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ได้ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินใน 3 เรื่อง ได้แก่ (1) การกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ เพื่อให้มีการถ่วงดุลและการกระจายอำนาจที่เหมาะสม ซึ่ง ธปท. ได้ออกประกาศไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 (2) การกำหนดให้สถาบันการเงินต้องขอความเห็นชอบจาก ธปท. ก่อนการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารระดับสูง โดยต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมาย และ (3) การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสถาบันการเงิน