กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แนะนำให้อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขยายตัวรวดเร็วมากเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย เพิ่มเม็ดเงินในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และใช้นโยบายการเงินอย่าง "ระมัดระวัง" เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุน นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังแนะนำให้อินโดนีเซียเพิ่มงบประมาณการใช้จ่าย แต่ยอมรับว่ารัฐบาลอินโดนีเซียอาจเผชิญกับยอดขาดดุลงบประมาณมากขึ้น
"ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของอินโดนีเซียร่วงลงแตะระดับ 5.758 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย. ลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.056 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.ค.ปี 2551 หากอินโนดีเซียเพิ่มเม็ดเงินในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและทำให้ราคาสินทรัพย์ภายในประเทศเป็นที่น่าดึงดูดใจ ก็จะดึงดูดนักลงทุนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เข้าลงทุน และอินโดนีเซียก็จะทะยานขึ้นรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้" ไอเอ็มเอฟกล่าว
ไอเอ็มเอฟยังกล่าวด้วยว่า "แม้แนวโน้มเศรษฐกิจอินโดนีเซียยังคงเป็นบวกในปีนี้ แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง, ดีมานด์, การขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดตอนนี้คืออินโดนีเซียต้องเพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ, กระตุ้นงบประมาณการใช้จ่าย และเสริมสร้างกรอบงานด้านนโยบายการเงินให้แข็งแรง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจและการเงินภายในประเทศมีเสถียรภาพ"
บลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของไอเอ็มเอฟว่า อินโดนีเซียมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศน้อยกว่าจีนอยู่ 3% โดยจีนมีทุนสำรองอยู่ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ และคาดว่าเศรษฐฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัว 3.5% ในปีนี้ ซึ่งเป็นสถิติที่ขยายตัวรวดเร็วเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีนและอินเดีย
มิลาน ซาวาดิจิล นักวิเคราะห์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า "อินโดนีเซียจะไปถึงเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทาบรัศมีประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดียได้ เพราะได้แรงส่งจากชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของนายซูซิโล บัมบัง ยุดโยโน่ โดยขณะนี้ยุดโยโน่ได้เร่งกระจายการสร้างงานผ่านโครงการฟื้นฟูสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงการสร้างถนน ท่าเรือ โรงงานไฟฟ้า และกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติ การทำเช่นนี้จะช่วยให้อินโดนีเซียมีสิทธิผงาดขึ้นเป็นดาวรุ่งทางเศรษฐกิจในเอเชียได้ไม่ยาก