(เพิ่มเติม) ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมมิ.ย.อยู่ที่ 83.5 จาก 78.5 ในพ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 29, 2009 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสากรรมในเดือนมิ.ย.ปรับตัวสูงสุดในรอบ 18 เดือนนับจากม.ค.51 มาอยู่ที่ 83.5 เพิ่มขึ้นจาก 78.5 ในเดือนพ.ค.52 เนื่องจากคำสั่งซื้อและยอดขายปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ ขณะที่ในระยะนี้ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เป็นแรงกดดันให้ระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่สูงมากนัก และด้วยค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 39 นับตั้งแต่เดือนพ.ค.49 เป็นต้นมา ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงภาวะความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก

ประธาน ส.อ.ท.ยังกล่าวถึง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่า อยู่ที่ 93.0 ใกล้เคียงกับพ.ค.ซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.5 แต่ยังต่ำกว่าระดับปกติที่ 100 เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงกังวลว่าภาคอุตสาหกรรมในอนาคตยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายด้าน

ทั้งจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน และเศรษฐกิจไทยที่ยังอ่อนแอจากการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชน รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ระดับราคาน้ำมันที่เริ่มกดดันภาวะต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้น และล่าสุด สถาณการณ์ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของภาคอุตสาหกรรมได้ในระยะถัดไป

นายสันติ กล่าวว่า ภาคเอกชนได้เสนอแนะให้รัฐบาลเร่งสร้างเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในประเทศ และให้รัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเมกะโปรเจ็กท์ รวมทั้งขอให้ธนาคารปล่อยเงินกู้เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการมากขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในระดับสูง

นอกจากนี้ภาครัฐดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เพื่อไม่ให้กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ดูแลเรื่องราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้ และควรมีมาตรการส่งเสริมการส่งออกเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ