รมว.ยุติธรรม เตรียมเสนอร่างกฎหมายรองรับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 เพื่อห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐตกลงใช้วีธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทในสัญญาของหน่วยงานของรัฐกับเอกชน หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วานนี้ตีกลับข้อเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้นำกลับไปพิจารณามาตรการรองรับการให้รอบคอบ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้ท้วงติงเรื่องมาตรการรองรับหากต้องยกเลิกการใช้อนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทภาครัฐและเอกชน ซึ่งขณะนี้ยอมรับว่ายังไม่มีมาตรการหรือกฎหมายใดมารองรับ ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงต้องนำข้อมูลและประเด็นต่างๆ มาทบทวน และปรับแก้บางส่วน หรืออาจจะนำไปสู่การออกกฎหมายใหม่อีกฉบับ
"คาดว่ากระทรวงยุติธรรมจะเสนอกฎหมาย 2 ฉบับ ควบคู่กัน โดยจะประกอบด้วย ร่างแก้ไข พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ และร่างกฎหมายใหม่ทดแทนการยกเลิกอนุญาโตตุลาการภาครัฐ"นายพีรพันธ์ กล่าว
รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงเหตุผลในการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวว่าในต่างประเทศการใช้ระบบอนุญาโตตุลาการแก้ปัญหาข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงกรณีที่เอกชนมีข้อพิพาทกับรัฐ แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนไทยและชาวต่างประเทศมีความแตกต่าง
อีกทั้งในต่างประเทศภาครัฐไม่ได้เข้ามาลงทุนกับเอกชนมากนัก ส่วนใหญ่ภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนกันเอง ขณะที่ประเทศไทยรัฐเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่และยังเป็นเจ้าของสัมปทานขนาดใหญ่
ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมต้องคิดค้นหาวิธีใหม่ เพื่อออกกฎหมายมาอุดช่องไม่ให้เกิดการทุจริต เพราะขั้นตอนของการมีอนุญาโตตุลาการภาครัฐอาจเป็นช่องทางนำไปสู่การทุจริต นำไปสู่การสูญเสียเงินและผลประโยชน์ของภาครัฐ หรือเสียค่าโง่โดยไม่มีเหตุจำเป็น เช่นกรณีของค่าทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ เพราะไม่มีใครคิดจะปกป้องผลประโยชน์ของรัฐจริงจังเหมือนผลประโยชน์ของเอกชน