คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แนะกระทรวงคมนาคมตั้งคณะทำงานพิจารณายืนยันการขอเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ตัดสินให้กรมทางหลวงต้องจ่ายค่าเสียหาย 1,500 ล้านบาทให้แก่บริษัท วอเตอร์บาวน์ จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง ผู้รับสัมปทานโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ และทางกระทรวงคมนาคมควรจะขอให้อัยการสูงสุดเข้ามาช่วยดูแลเรื่องข้อกฎหมายด้วย
"เข้าใจว่าศาลไทยมีอำนาจทำไปตามปกติ อย่างไรก็ตามผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่ากรมทางหลวงจะชนะคดีจึงได้ดำเนินการเช่นนี้ โดยประเด็นที่จะหยิบยกขึ้นมาต่อสู้ คือกรณีที่บริษัทดังกล่าวไม่ใช่คู่สัญญาสัมปทานของรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากรณีนี้เป็นกรณีแรกของไทยที่ใช้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และมีข้อโต้แย้ง" คุณพรทิพย์ กล่าว
อนึ่ง ข้อพิพาทดังกล่าว ทางฝ่ายเอกชนอ้างว่าได้รับความเสียหายจากกรณีที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ทำผิดสัญญาให้ลดค่าผ่านทางเหลือ 20 บาทตลอดสาย
ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ค.52 มีมติให้ตั้งคณะทำงาน 1ชุด โดยมีผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม สำนักงานอัยการสูงสุด และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาอุทธรณ์ตามข้อกำหนดของกฎหมาย
"ครม.ให้สู้ และตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาให้เกิดความรอบคอบ และจะดำเนินการในฐานะรัฐบาลไทย โดยคณะทำงานดังกล่าวจะต้องสรุปและยื่นอุทธรณ์ภายใน 90 วัน ซึ่งขณะนี้เวลาผ่านมาแล้ว 22 วัน" นายโสภณ กล่าว
ตามกฎหมายนั้นเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการก็มีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ประกอบกับที่ผ่านมารัฐบาลได้ขยายอายุสัญญาสัมปทานให้กับบริษัทฯ และตกลงกันว่าจะไม่มีการฟ้องร้องระหว่างกัน แต่บริษัท วอเตอร์บาวน์ ซึ่งถือหุ้นเพียง 9% ฟ้องร้องรัฐบาลโดยอ้างสิทธิตามสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พ.ศ.2545 รัฐบาลจึงต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าจะใช้แนวทางใดในการสู้คดี