อัยการรัฐนิวยอร์กแฉ "ซิตี้กรุ๊ป-เมอร์ริล ลินช์"จ่ายเงินโบนัสพนักงานแม้กู้เงินจากรบ.สหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Friday July 31, 2009 09:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แอนดรูว์ คูโม อัยการสูงสุดของรัฐนิวยอร์กเปิดเผยว่า ซิตี้กรุ๊ป อิงค์, เมอร์ริล ลินช์ แอนด์ โค และสถาบันการเงินอีก 7 แห่งของสหรัฐที่ขอรับความช่วยเหลือจากโครงการลดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (TARP) มูลค่า 1.75 แสนล้านดอลลาร์ของรัฐบาลสหรัฐนั้น ได้จ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานในปี 2551 รวมทั้งสิ้น 3.26 หมื่นล้านดอลลาร์

"เราได้รวบรวมหลักฐานพบว่ามีสถาบันการเงิน 9 แห่งที่ยื่นขอความช่วยเหลือจากโครงการ TARP ได้นำเงินภาษีราษฎรไปจ่ายโบนัสให้กับพนักงานในปี 2551 เป็นเงินทั้งสิ้น 3.26 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะซิตี้กรุ๊ปและเมอร์ริล ลินช์ ที่รับเงินช่วยเหลือจากโครงการนี้ไปถึง 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์" คูโมระบุในรายงานที่ชื่อว่า “No Rhyme or Reason: The ‘Heads I Win, Tails You Lose’ Bank Bonus Culture"

คูโมยังกล่าวเหน็บแนมด้วยว่า "เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ว่าเมื่อธนาคารมีผลประกอบการดี พนักงานก็รับเงินตอบแทนมาก และเมื่อธนาคารมีผลประกอบการย่ำแย่ แต่พนักงานก็ยังรับผลตอบแทนมาก และเมื่อธนาคารมาถึงจุดที่ขาดทุนจนต้องวิ่งขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล พวกเขาก็ยังเอาเงินภาษีราษฎรไปจ่ายให้กับพนักงาน"

รายงานฉบับดังกล่าวถูกเปิดเผยในช่วงเวลาเดียวกัยที่สมาชิกสภาคองเกรส และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) กำลังตรวจสอบว่าควรมีการจำกัดค่าตอบแทนให้กับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินที่ขอรับความช่วยเหลือจากโครงการ TARP หรือไม่

"ผู้บริหารอาวุโสของสถาบันการเงินแห่งหนึ่งให้ความเห็นว่า สถาบันการเงินที่รับความช่วยเหลือจากรัฐจ่ายค่าตอบแทนโดยคำนึงถึงผลประกอบการของบริษัทย่อยและภาพรวมของบริษัท และค่านิยมที่ว่าจะต้องจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานทั้งๆที่สถานะทางการเงินของบริษัทย่ำแย่นั้น ควรจะยกเลิกไป บริษัทต้องปลูกฝังค่านิยมใหม่คือให้พนักงานมีส่วนได้รับผลประโยชน์เมื่อบริษัทมีผลประกอบการดี และให้พนักงานมีส่วนแบกรับภาระร่วมกันเมื่อบริษัทมีผลประกอบการย่ำแย่ แต่จนถึงขณะนี้เรายังหาเหตุผลไม่ได้ว่าเพราะเหตุใดสถาบันการเงินเหล่านั้นจึงจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานของตนเองทั้งๆที่ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐ" คูโมกล่าว

บลูมเบิร์กรายงานว่า นักลงทุนให้น้ำหนักต่อรายงานของนายคูโมมาโดยตลอด โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลงกว่า 300 จุดหลังจากมีรายงานว่านายคูโมยื่นมือเข้าตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในธุรกิจปล่อยกู้จำนองของบริษัทบางแห่ง พร้อมทั้งส่งหมายศาลถึงบริษัทแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ซึ่งเป็นบริษัทปล่อยกู้จำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อสอบสวนอุตสาหกรรมเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ