ธปท.ระบุครึ่งปีหลังจับตาคุณภาพสินเชื่อแบงก์พาณิชย์-ความสามารถการชำระหนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 31, 2009 13:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผอ.อาวุโส ฝ่ายกลยุทธสถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีหลังขึ้นกับการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ หลังจากที่ไตรมาส 2/52 สินเชื่อในระบบแบงก์ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสแรก ขณะที่ ธปท.ก็จะจับตาคุณภาพสินเชื่อและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

"รายได้หลักของธนาคารยังมาจากการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งหากสินเชื่อชะลอตัวจะมีผลต่อการทำกำไรของธนาคาร ขณะเดียวกัน NIM ที่คำนวณมาจากรายได้จริงจากการปล่อยเชื่อ ดังนั้นธนาคารพาณิชย์คงต้องทำงานหนัก และการสร้างผลกำไรในครึ่งปีหลังขึ้นกับความสามารถปล่อยสินเชื่อกู้ และคุณภาพสินเชื่อว่าดีหรือไม่"นางสาวนวพร กล่าว

ในช่วงไตรมาส 2/52 สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ขยายตัว 0.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/52 ที่ขยายตัว 5.8% โดยสินเชื่อภาคธุรกิจมีสัดส่วน 73.88% ของสินเชื่อรวม หดตัวลง 2.4% ตามภาวะเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจขนาดใหญ่หันไประดมเงินทุนกันเองแทนการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ทำให้สภาพคล่องในระบบลดลงไปบ้าง ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภค ยังขยายตัวได้ ที่ 10.1% แม้จะชะลอลงบ้าง

ด้านเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/52 ขยายตัว 5.4% แต่การระดมเงินฝากหรือตั๋วบีอีชะลอตัว 5.9% เพราะผู้ฝากหันไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ทำให้สภาพคล่องตึงตัวขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/52 ขณะที่สัดส่วนเงินฝากต่อบีอีเพิ่มเป็น 85.3%

สำหรับผลกำไรระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/52 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/52 จำนวน 6.1 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้จากดอกเบี้ยซึ่งเป็นรายได้หลักจากการปล่อยสินเชื่อทรงตัว ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)อยู่ที่ 2.9% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/52 ที่อยู่ในระดับ 2.8% แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่เพิ่มขึ้น 1.1 หมื่นล้านบาท ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 2 หมื่นล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1/52 จำนวน 3 พันล้านบาท และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมทรงตัวที่ 0.8%

สิ้นไตรมาส 2/52 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เร่งตัวขึ้น โดย Gross NPL เทียบกับสินเชื่อรวมอยู่ที่ 5.4% และ Net NPL อยู่ที่ 3.1% ระบบธนาคารพาณิชย์ ยังมีปัจจัยบวกจากความมั่นคงของเงินกองทุน โดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS)อยู่ที่ 15.9% แยกเป็น Teir 1 ที่ 12.4% ยังเป็นฐานที่เอื้ออำนวยการปล่อยสินเชือได้ แต่ก็ต้องขึ้นกับความต้องการสินเชื่อจะเร่งตัวขึ้นได้หรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึง ความมั่นใจของนักลงทุน

"เศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องขึ้นแล้ว แต่ยังไม่สามารบอกได้ว่าจะดีได้นานแค่ไหน จะดีแค่ไหน ตรงนี้ยังต้องติดตาม"นางสาว นวพร กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ