นักวิชาการแนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทำไทยเข้มแข็งยั่งยืนกว่าห่วง GDP หด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 31, 2009 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงานสัมมนา"เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ไทยจะเข้มแข็งจริงหรือ" ว่า การที่เศรษฐกิจไทยปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าจะฟื้นได้จริงหรือไม่นั้น ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือปัญหาพื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยว่าจะเป็นตัวทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งได้จริงหรือไม่ ซึ่งหากรัฐบาลไม่เร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอาจจะทำให้ในอีก 4-5 ปีข้างหน้าปัญหาเศรษฐกิจของไทยจะหนักมากกว่านี้

"โครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศมาก สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีสัดส่วนของการพึ่งพาในประเทศให้สูงขึ้น ทั้งการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ" นายอนุสรณ์ ระบุ

พร้อมมองว่า จากนี้ไปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของโลกจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบันที่สหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป มีบทบาทหลักสำคัญ แต่ในอนาคต จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล จะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของโลกมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องวางบทบาทในการเจรจาการค้า และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศเหล่านี้ใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก

สำหรับข้อมูลจากนักวิชาการหลายสถาบันที่มองว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นได้ในปลายปีนี้ อาจจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในด้านการส่งออก แต่คงไม่ดีขึ้นแบบยั่งยืน เนื่องจากการส่งออกที่จะเติบโตขึ้นเป็นสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าของบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย ไม่ใช่เป็นการเติบโตจากสินค้าของคนไทยเอง

"เราอย่าไปภูมิใจกับการส่งออกที่จะเติบโตในไตรมาส 4 นี้ เพราะเป็นแค่สินค้าจากประเทศไทย ไม่ใช่สินค้าของคนไทย ขณะที่สินค้าของคนไทยเอง คือ สินค้าเกษตรกลับมีแนวโน้มราคาตกต่ำ" นายอนุสรณ์ กล่าว

ส่วนโครงการลงทุนของรัฐบาลภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข้งปี 52-55 นั้น หากกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและมีผลต่อระบบเศรษฐกิจได้จริงตามแผนฯ ซึ่งรัฐบาลระบุว่าอาจทำให้หนี้สาธารณะของไทยในอีก 4-5 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับ 60% ของจีดีพีซึ่งไม่ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะญี่ปุ่นเองยังมีหนี้สาธารณะสูงถึง 100% ของจีดีพีนั้น นายอนุสรณ์ เห็นว่า คงจะนำประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะฐานภาษีและระบบสวัสดิการของไทยดีไม่เท่าญี่ปุ่น ประกอบกับไทยเป็นเพียงประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นการที่หนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 60-70% ต่อจีดีพีถือว่าเข้าขั้นไม่ปลอดภัยแล้วสำหรับสถานะการเป็นประเทศกำลังพัฒนา

ดังนั้นการที่เศรษฐกิจของไทยจะเข้มแข็งได้หรือไม่นั้นขึ้นกับว่า รัฐบาลจะต้องยกขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยให้แข่งขันได้อย่างชัดเจน, อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน, มีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ และจัดการระบบและโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีธรรมาภิบาลเพื่อลดการทุจริตคอรัปชั่น

ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.ภัทร(PHATRA) ยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ปลายปีนี้ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ทำให้การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนจะเริ่มดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัวราว 3.3%

ขณะที่สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยคาดว่าจะยังมีเม็ดเงินจากต่างชาติไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ นักลงทุนจึงหันไปลงทุนตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า นอกจากนี้สภาพคล่องในตลาดเงินโลกยังมีอยู่มาก ประกอบกับราคา หุ้นไทยยังปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคจึงเป็นสิ่งดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาได้มาก แต่ทั้งนี้เม็ดเงินจากต่างชาติที่กลับเข้ามาอาจจะมีปริมาณไม่สูงมากเท่ากับที่ต่างชาติเทขายออกไปในช่วงก่อนหน้า

ส่วนโครงการลงทุนของรัฐบาลภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งที่รัฐบาลเชื่อว่าจะทำให้จีดีพีของไทยในอีก 4-5 ปีข้างหน้าโตได้ 5.5% และหนี้สาธารณะจะลดลงเหลือ 50% ต่อจีดีพีได้ใน 7-8 ปีข้างหน้านั้น หากการดำนินการเป็นไปได้ตามแผนดังกล่าวก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่หากไม่เป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ก็น่าเป็นห่วง

"ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นจะเป็นปัญหาได้ เพราะถ้าจีดีพีไม่โตจริง รัฐบาลก็เก็บภาษีไม่ได้เพิ่มขึ้น งบรายจ่ายประจำก็จะกินหมด ทำให้งบลงทุนเหลือน้อยลง และบังคับให้รัฐบาลต้องปรับขึ้นภาษีในที่สุด" นายศุภวุฒิ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ