กฟภ.เผยยอดใช้ไฟฟ้าครึ่งปีแรกติดลบ 3.94% โรงงานลดลงมากสุดตามภาวะ ศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 4, 2009 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของหน่วยซื้อไฟฟ้าในเขตจำหน่ายของ กฟภ.ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า ติดลบ 3. 94% โดยมีจำนวนจำหน่ายไฟฟ้า 43,396 ล้านหน่วย ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่จำหน่ายไฟฟ้าอยู่ที่ 45,177 ล้านหน่วย

และเมื่อพิจารณาการใช้ไฟฟ้ารายเดือนพบว่า เดือน ม.ค.52 การใช้ไฟฟ้าติดลบมากที่สุดถึง 11.7% และหากแยกเป็นรายไตรมาสจะเห็นว่า ไตรมาส 1/52 ติดลบ 6.3%, ไตรมาส 2/52 ติดลบ 1.1% แสดงให้เห็นว่าการใช้ไฟฟ้าติดลบน้อยลงต่อเนื่อง แต่ก็เป็นสัญญาณถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 3-4/52 ซึ่งเชื่อว่ายอดการใช้ไฟฟ้าช่วงครึ่งปีหลังจะกลับมาขยายตัวได้

ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า การแยกกลุ่มการใช้ไฟฟ้าช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ากลุ่มที่มียอดใช้ไฟฟ้าติดลบมากสุด คือ กิจการขนาดใหญ่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมติดลบ 9.22% จากปี 51 ที่ยอดใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6.8% ขณะที่กลุ่มบ้านพักอาศัยเพิ่มขึ้น 5.16% จากปี 51 ที่เพิ่มขึ้น 4.1% ธุรกิจขนาดกลางและเล็กเพิ่มขึ้น 4.55% จากปี 51 ที่เพิ่มขึ้น 2.3% โรงแรมเพิ่มขึ้น 3.5% จากปี 51 ที่เพิ่มขึ้น 9.1% และกลุ่มอื่นๆ เพิ่มขึ้น 6.86% จากปี 51 ที่เพิ่มขึ้น 8.1%

ด้านนายภัสสร เวียงเกตุ ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า ยอดการใช้ไฟฟ้าจริงปีนี้ติดลบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปี 51 ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2% โดยกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มียอดการใช้ไฟฟ้าติดลบมากกว่าที่ประมาณการไว้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้คำสั่งซื้อลดลง อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 3/52-ไตรมาส 4/52 อีกครั้ง

ส่วนความคืบหน้าการตั้งบริษัทลูกของ กฟภ.นั้น โดยแห่งแรกคือ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม จำกัด จะเริ่มเดินเครื่องได้ใน 2 เดือนข้างหน้านี้ โดยบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม จะเป็นโฮลดิ้งคัมปะนี เข้าถือหุ้นในกิจการต่างๆ ที่สามารถดำเนินการได้ เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน และธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศ เช่น ก๊าซชีวภาพ หรือธุรกิจให้คำปรึกษา แต่ไม่สามารถรับงานก่อสร้างหรือทำธุรกิจบำรุงรักษา หรือสร้างสายส่งไฟฟ้าได้

สำหรับผลประกอบการ กฟภ.ในช่วงแรกของปีนี้ 6 เดือน มีรายได้ 1.35 แสนล้านบาท โดยงบปิดบัญชี 5 เดือน มีกำไร 6,400 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลดีจากอัตราแลกเปลี่ยน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ