นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในอดีตการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจมักเปรียบเทียบตัวเลขปีต่อปี แต่ปัจจุบันที่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจมีความผันผวนมากนั้น ควรจะดูแนวโน้มเศรษฐกิจเทียบรายไตรมาสต่อไตรมาส และเทียบเดือนต่อเดือน ซึ่งจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินไป กับภาวะความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลแล้วต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยจะเห็นได้ว่าขณะนี้ประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังเริ่มฟื้นในอัตราที่เร่งตัวพอสมควร
"อยากจะชี้ให้เห็นว่าถ้าดูจากตัวเลขต่างๆ เหล่านี้ จะเห็นว่าเราได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วจริงๆ และขณะนี้กำลังมีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างเร่งตัวขึ้นพอสมควร หรือเป็นการฟื้นฟูแบบตัว V คือลงเร็ว และขึ้นค่อนข้างเร็ว" นายกรัฐมนตรี กล่าวในการแถลงผลงานนโยบายรัฐบาล 6 เดือน
นอกจากนี้ยังมีเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจอีกหลายตัวที่มีสัญญาณไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ดัชนีผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสจะเห็นการฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน, อัตราการใช้กำลังการผลิต ที่เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น, ดัชนีการบริโภคของภาคเอกชนที่มีสัญญาณดีขึ้น, รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น
" 6 เดือนที่ผ่านมา ผมทราบดีว่าเป็นช่วงที่ทุกคนยากลำบากที่สุดจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ แต่ผมมั่นใจว่าจุดเลวร้ายที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว และขณะนี้จากการวางแผนมาตรการเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง จะทำให้การฟื้นตัวเกิดขึ้น และรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจหลังการฟื้นตัวแล้วด้วย" นายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมยอมรับว่า จากผลที่ต่อเนื่องของเหตุความวุ่นวายทางการเมืองในเดือนเม.ย.52 ประกอบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังเป็นจุดที่รัฐบาลต้องเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงแผนงานในอนาคตที่รัฐบาลเตรียมจะเดินหน้าดำเนินการต่อ เช่น การปรับระบบสวัสดิการของประชาชนให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนสวัสดิการชุมชน, การขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมไปถึงคู่สมรส บุตร และของผู้ประกันตน ตลอดจนขยายไปถึงแรงงานนอกระบบ และการออมสำหรับในวัยชราภาพ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกรวมอยู่ในระบบสวัสดิการของชาติที่ยืนยันว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนภายใต้การทำงานของรัฐบาลชุดนี้
สำหรับปัญหาต่างๆ ในเชิงโครงสร้างและพื้นฐานของความไม่เป็นธรรมที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ก็จะได้รับการแก้ไขภายในรัฐบาลนี้เช่นนี้กัน เช่น ปัญหาที่ทำกิน ซึ่งรัฐบาลจะนำระบบโฉนดชุมชนมาใช้เป็นทางเลือก, การขยายโครงการบ้านมั่นคง และการปรับปรุงระบบภาษีทรัพย์และที่ดินเพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมาตั้งเป็นกองทุนธนาคารที่ดิน รวมทั้งรัฐบาลจะปรับเปลี่ยนวิธีการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรจากระบบการรับจำนำมาเป็นการประกันราคา เพื่อนำไปสู่ระบบการช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่ทำลายขีดความสามารถในการแข่งขันทางการเกษตรของไทย
นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับปรุงผลิตภาพ ระบบการแข่งขัน และระบบการบริการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเอกชนทั้งหมด ซึ่งได้เริ่มต้นไปบ้างแล้วและจะเร่งรัดเดินหน้าต่อไป โดยทั้งหมดนี้จะดำเนินการไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาทางการเมือง และการแก้ไขปัญหาทางสังคม
นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า แม้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ยังไม่จบ แต่รัฐยืนยันในการปกป้องสถาบันหลัก และมุ่งสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นภายในชาติอย่างทำเต็ม โดยดำเนินการอยู่บนความรอบคอบระมัดระวังและไม่ให้เกิดความเพลี่ยงพล้ำอันจะทำให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ต้องการเห็นความขัดแย้งขยายวงไปสู่สถาบันต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายไม่สิ้นสุด
"ผมได้กำหนดจุดของความพอดี และแสดงออกอย่างชัดเจนใน 6 เดือนที่ผ่านมาว่าอะไรที่เป็นสิทธิเสรีภาพที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญ คนไทยทุกคนไม่ว่าจะคิดอ่านทางการเมืองอย่างไร ก็สามารถใช้สิทธินี้ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ทำผิดกฎหมายและทำความเดือดร้อนแก่ส่วนรวม รัฐบาลก็พร้อมใช้กฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดจริงจัง ซึ่งเหตุการณ์เดือนเม.ย.ยืนยันได้เป็นอย่างดีต่อแนวคิด และปฏิบัติของรัฐบาลชุดนี้" นายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมกล่าวในท้ายสุดว่า แม้ความขัดแย้งทางการเมืองจะยังต้องมีต่อไป แต่แนวทางที่รัฐบาลได้ยึดถือปฏิบัติตลอดการทำงานที่ผ่านมา และการทำงานร่วมกับรัฐสภาในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นคำตอบแก่สังคมได้ในที่สุด
ด้านนายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง ระบุว่า จากสัญญาณเศรษฐกิจหลายตัวทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการส่งออกที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ตลาดเริ่มฟื้นตัว เนื่องจากผู้บริโภคมีความมั่นใจกับมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือในก่อนหน้านี้ที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะต่อไปนั้นรัฐบาลจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจเกิดปัญหากลับไปชะลอตัวลงอีกครั้ง โดยขณะนี้ทุกส่วนได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบแล้ว และภายในวันที่ 18 ส.ค.นี้ เม็ดเงินจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจจำนวน 4 แสนล้านบาท จะสามารถลงไปสู่แต่ละโครงการได้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ คือ การแก้ไขปัญหาให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากธุรกิจในกลุ่มนี้ถือว่ามีความอ่อนไหวมากกับปัจจัยทั้งด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในขณะนี้