สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ระบุว่า สกุลเงินบาทของไทยจะปรับตัวขึ้น 1.4% ภายในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงของไทย รวมถึงการที่นักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินไทย แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามหาทางชะลอการแข็งค่าของค่าเงินบาท ด้วยการผ่อนคลายระเบียบการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศก็ตาม
วานนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการคลายเกณฑ์ลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยนิติบุคคลซึ่งมีสินทรัพย์ตามงบดุลตั้งแต่ 5 พันล้านบาทขึ้นไปจะได้รับอนุญาตให้สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ด้วยตนเอง ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์ต่อราย นอกจากนี้ยังมีการขยายให้นักลงทุนสถาบันสามารถลงทุนในส่วนของการทำธุรกรรมอนุพันธ์ต่างประเทศ เช่น อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ตราสารหนี้ ตราสารทุน สินค้าโภคภัณฑ์ และดัชนีทางการเงินต่างๆ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุน
อย่างไรก็ดี โทมัส ฮารร์ นักวิเคราะห์ค่าเงินจากสแตนดาร์ด ชาเตอร์ด มองว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลจำกัดในเชิงลบต่อเงินบาท โดยเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น 0.7% แตะ 33.75 ต่อดอลลาร์ภายในเดือนก.ย. และ 33.50 ดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้
ฮารร์กล่าวให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กถึงสาเหตุที่เขามองเช่นนั้นว่า ตลอดช่วงสองเดือนที่ผ่านมีสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า เศรษฐกิจดิ่งลงจนถึงจุดต่ำสุดแล้ว และส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังมีดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูงมาก
บลูมเบิร์กรายงานว่า เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 33.98 ต่อดอลลาร์ ณ เวลา 12.27 น.ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากวานนี้ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะ 33.88 บาท/ดอลลาร์เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2551 สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ยังคงอันดับ “neutral" ให้กับสกุลเงินบาทระยะสั้น
ในปีนี้ นักลงทุนต่างชาติได้เข้าซื้อหุ้นไทยมากกว่าขาย คิดเป็นมูลค่า 1.04 พันล้านดอลลาร์ และเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อเนื่องในช่วง 4 วันที่ผ่านมา โดยจนถึงขณะนี้ SET Index บวกขึ้นแล้ว 43% จากที่ลบ 48% ในปี 2551
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงเมื่อวันศุกร์ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 477 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากที่เกินดุล 1,390 ล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ค.52