ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าการผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำหรับนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ตามงบดุลตั้งแต่ 5 พันล้านบาท ตลอดจนการขยายขอบเขตหลักทรัพย์ต่างประเทศและธุรกรรมทางการเงินให้กับผู้ลงทุน เป็นการเปิดช่องทางเพิ่มเติมให้แก่ภาคธุรกิจเอกชนให้มีความคล่องตัวในการทำธุรกรรมเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ และสามารถเข้าถึงเครื่องมือตราสารทางการเงินในต่างประเทศที่มีความซับซ้อน ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยงได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ปริมาณการทำธุรกรรมทางการเงินภายหลังการผ่อนคลายกฏเกณฑ์การลงทุนนี้จะเพิ่มขึ้นจนสามารถสร้างความสมดุลให้กับตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่มีแรงขายมากกว่าแรงซื้อในขณะนี้ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ เช่น ธุรกิจพื้นฐานของนิติบุคคลเหล่านั้นมีความจำเป็นต้องใช้ธุรกรรมเพื่อการลงทุน และ/หรือเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ ตลอดจนความคุ้มค่า ความน่าสนใจของอัตราผลตอบแทน ประเด็นเรื่องความเสี่ยง และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวเนื่องของการทำธุรกรรมดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายการลงทุนต่างประเทศถือเป็นมาตรการแก้ไขเฉพาะหน้าในการบรรเทาการแข็งค่าของเงินบาทในระยะสั้นได้ส่วนหนึ่ง เพราะเป็นช่วงจังหวะเวลาเดียวกันกับการทยอยกลับเข้าสู่ภาวะเสถียรภาพของตลาดการเงินต่างประเทศ หลังจากที่ต้องเผชิญกับความผันผวนที่รุนแรงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลกในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา
แต่ปัจจัยพื้นฐานสำหรับทิศทางของเงินบาทนั้น โดยหลักก็จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสภาวะอุปสงค์-อุปทานของเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ ซึ่งการผ่อนคลายกฏเกณฑ์การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ อาจเป็นการเพิ่มแรงกระตุ้นความต้องการเงินดอลลาร์ในตลาดได้เช่นกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แรงกระตุ้นความต้องการเงินดอลลาร์ฯ จะเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า จนส่งผลให้มีการนำเข้าเร่งตัวสูงขึ้นตามการกลับมาการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่แนวโน้มที่ดีขึ้นของภาคการส่งออกตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ก็อาจทำให้มูลค่าการนำเข้า โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าทุนและวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตต่อ เพิ่มสูงขึ้นด้วยอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ในระยะกลาง-ยาวมองว่าทิศทางของเงินดอลลาร์ในระยะถัดไปหลังจากวิกฤตรอบนี้สิ้นสุดลง ยังมีแนวโน้มที่ยังอ่อนค่าต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้สกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย รวมทั้งเงินบาทของไทย ต้องเผชิญทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ฐานะการเกินดุลการค้าของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 52 แม้ว่ามูลค่าการเกินดุลดังกล่าวอาจจะลดลงน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการเกินดุลในระดับสูงในช่วงครึ่งแรกของปี ก็ยังมีผลให้เงินบาทต้องแข็งค่าขึ้นด้วย
นอกจากนี้ หากพิจารณาโครงสร้างการชำระค่าสินค้าส่งออกในปัจจุบัน จะพบว่าเงินดอลลาร์ยังคงเป็นสกุลเงินหลักในธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยครองสัดส่วนราว 80.7% แม้ว่าจะมีการปรับลดสัดส่วนการใช้เงินดออลลาร์ลงแล้วก็ตาม แต่ การลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ ในการทำการค้าระหว่างประเทศ ต้องพิจารณาอย่างจริงจังต่อเนื่องในระยะถัดไปเช่นกัน และ อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัว
ดังนั้น แม้ว่าทางการไทยจะได้พยายามเข้ามาช่วยดูแลมิให้เงินบาทแข็งค่าเร็วและมากเกินไปกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค แต่สุดท้ายแล้วโจทย์ที่สำคัญของภาคธุรกิจในระยะยาว ยังคงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการบริหารต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการแสวงหาช่องทางที่จะลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์ ในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเงินหยวนคงจะมีบทบาทมากขึ้นตามลำดับ ทั้งจากการที่เศรษฐกิจจีนยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และจากบทบาททางการค้า การลงทุนของจีนที่เพิ่มมากขึ้นกับไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย