(เพิ่มเติม) รมว.พาณิชย์ แนะผู้ประกอบการปรับตัวพร้อมเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 10, 2009 13:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ระบุว่าอีก 6 ปีข้างหน้าหรือในปี 58 กลุ่มประเทศอาเซียนจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community:AEC) อย่างสมบูรณ์แบบ หรือรวมตัวเป็นฐานการผลิตเดียวกัน(single market) ซึ่งช่วยให้ประเทศสมาชิกสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตต่างๆ ได้เสมือนอยู่ในประเทศเดียวกัน โดยสามารถใช้ทรัพยากร วัตถุดิบ และแรงงานในการผลิตสินค้าที่ปราศจากอุปสรรคทั้งมาตรการกีดกันเรื่องภาษีและไม่ใช่เรื่องภาษี

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ประกอบการของไทยต้องเร่งปรับตัวทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยเชิงรุกต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการสร้างแบรนด์ สร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้กลยุทธ์เชิงรุกเจาะตลาด พัฒนาและผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด ส่วนเชิงรับต้องปรับปรุงศักยภาพของสินค้าที่ไม่สามารถแข่งขันได้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาระบบการบริหารจัดการ พัฒนาบุคลากรและฝีมือแรงงาน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อศึกษาหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs อาจจะมีปัญหาบ้าง ซึ่งกลุ่มอาเซียนเองเตรียมจัดตั้ง SMEs Council เพื่อเข้ามาช่วยเหลือในการบรรเทาผลกระทบและเสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็ง โดยประชากรในกลุ่มอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้เสรีมากขึ้นซึ่งจะเปิดโอกาสให้ไทยออกไปลงทุนในกลุ่มอาเซียนได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชากร ซึ่งมีการศึกษาพบว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของประเทศสมาชิกอาเซียนจะขยายตัวได้ถึงปีละ 8-10%

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) เชื่อว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) จะมีมากกว่าผลเสีย โดยคาดว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกให้แก่สินค้าไทย ขยายโอกาสการส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านเ ช่น กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เพิ่มขีดความสามารถในการเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุน, เพิ่มโอกาสของนักลงทุนไทยในการไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้รับประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว และช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองของไทยและการขยายความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค

สำหรับกลุ่มสินค้าและบริการที่คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่ AEC ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตร, ประมง, ไม้, ยางพารา, ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนกลุ่มบริการ ได้แก่ ธุรกิจแฟรนไชส์, อาหาร, โลจิสติกส์, สิ่งพิมพ์ และธุรกิจบริการด้านสุขภาพและรักษาพยาบาล แต่ขณะเดียวกันยังมีสินค้าทั้งในกลุ่มการเกษตร และอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ปาล์มน้ำมัน, ถั่วเหลือง, ข้าว, กาแฟ, ชา, เหล็ก, ยานยนต์, สิ่งทอ, ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

ประธาน ส.อ.ท. แสดงความเป็นห่วงว่าผู้ประกอบการที่จะได้รับจากการเข้าสู่การเป็น AEC คือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ และชี้ให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากกองทุนที่มีอยู่ คือ"กองทุนเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า" ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

"รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูเรื่องกองทุนฯ ให้ดี เพื่อช่วยรองรับผลกระทบให้แก่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กในเรื่องการปรับตัว รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการที่จะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไม่เช่นนั้นแล้วจะมีปัญหาในอนาคตได้" นายสันติ กล่าวในงานสัมมนา "ไทยกับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"

ด้านนายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักสำคัญของไทยทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบไปด้วยนั้น ไทยจำเป็นต้องหันกลับมาพึ่งพาการส่งออกในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น ซึ่งตลาดในอาเซียนที่ยังไม่นับรวมประเทศคู่เจรจาถือว่ามีกำลังซื้อมากถึง 560 ล้านคน

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์และลดผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร, การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน, การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ และผลการศึกษาวิจัยต่างๆ มาปรับใช้, การศึกษากฎระเบียบข้อบังคับ ตลอดจนมาตรการทางการค้าให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ รวมทั้งการพัฒนาสินค้าและบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

"เดิมเราพึ่งพาการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่นเป็นหลักถึง 40% แต่ต่อไปเราอาจจะต้องพึ่งพาตลาดอาเซียนรวมทั้งประเทศคู่เจรจา ซึ่งอาจจะสูงถึง 30% เพราะฉะนั้นเราต้องคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการเปิดตลาดครั้งนี้" นายดุสิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ