บมจ.แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส(ADVANC) หรือ เอไอเอส, บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) และ บริษัท ทรูมูฟ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น(TRUE) แถลงความร่วมมือในการปกป้องลูกค้าจาก Spam SMS ด้วยเงินลงทุนกว่า 30 ล้านบาท เพื่อพัฒนาซอฟแวร์แอนตี้-Spam SMS เพื่อสร้างระบบบล็อคการส่ง Spam SMS ข้ามเครือข่าย ซึ่งจะช่วยกรอง Spam SMS ได้มากกว่า 90%
การพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวเพื่อป้องกันการเกิดปัญหา Spam SMS ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ลูกค้า และการส่งผ่านระบบการส่ง SMS จำนวนมาก ผ่านเครือข่ายของโอเปอเรเตอร์ทุกราย ทำให้ลูกค้าทุกโอเปอเรเตอร์ได้รับข้อความที่ไม่เกี่ยวข้องกับความต้องการ
ที่ผ่านมาลูกค้าสามารถแจ้งให้โอเปอเรเตอร์ของตนบล็อค Spam SMS หรือบล็อคข้อความเหล่านั้นได้ แต่หากเป็นการส่งข้ามมาจากระบบอื่นยังไม่สามารถบล็อคได้
ทั้งนี้ ลูกค้าโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ค่ายที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจาก Spam SMS สามารถโทรแจ้งยกเลิกบริการได้ที่ Call Center ของผู้ให้บริการแต่ละค่าย เพื่อแจ้งให้บล็อค Spam SMS ค่ายตนเอง และเพื่อให้โอเปอเรเตอร์สามารถบล็อค Spam SMS ที่ส่งจากทั้ง 3 เครือข่ายได้ในคราวเดียวกัน โดยระบบการบล็อคของทุกค่ายจะเริ่มใช้งานสมบูรณ์แบบในสิ้นเดือน ส.ค.นี้
นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด ADVANC กล่าวว่า ทั้ง 3 ค่ายได้ร่วมมือกันเป็นปีในการดูแลและพัฒนาซอต์แวร์ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากลูกค้า แต่ที่ผ่านมาแต่ละค่ายป้องกันของตัวเองได้ แต่ไม่สามารถทำข้ามระบบได้ ดังนั้น ต่อไปนี้หากลูกค้าไม่ต้องการ Spam SMS โทรแจ้งได้ ก็จะเหลือเฉพาะข้อความที่สำคัญ หรือ White list ได้แก่ ข้อมูลทางการเงินจากสถาบันการเงิน หรือการทำ Transaction เช่นการรูดบัตรเครดิต การโอนยอดเงิน เป็นต้น , ข้อมูลการแจ้งยอดของโอเปอเรเตอร์ ส่วนข้อความลักษณะโฆษณาที่จะมาจาก Content Provider หรือข้อมูลที่ไม่รู้ที่มา ก็จะไม่ปรากฎ
"ผมยืนยันได้ว่า เราไม่ได้ขาย List หรือเบอร์โทรศัพท์ให้กับ Content Provider คิดว่าอาจจะเป็นลูกค้าที่ไปซื้อของหรือกรอกข้อมูลในการทำธุรกรรมต่างๆ แล้วไปกรอกเบอร์มือถือ ซึ่งระยะหลังก็เป็นการสุ่มส่งลูกค้าครั้งละมากๆ...ถึงจะบล็อกไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ทำได้ 80-90%" นายสมชัย กล่าว
ด้านนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานพาณิชย์ DTAC กล่าวว่า ในกรณีที่คนส่ง SMS ส่งระหว่างกันเอง ไม่ใช่ลักษณะ Mass ทางบริษัทก็ไม่สามารถบล็อกได้ หลังจากนี้ ทั้ง 3 ค่ายมือถือจะมีคามร่วมมือในเรื่องการร่วมการจัดทำคงสิทธิเลขหมาย (Number portibility) ซึ่งเพิ่งเริ่มตั้งคณะทำงานร่วมกัน โดยจะต้องมีการจัดตั้งเคลียริ่งเฮ้าส์ ระบบซอฟท์แวร์ที่ย้ายเบอร์ไปยังอีกโอเปอเรเตอร์หนึ่งได้ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จไม่ทันตามที่ คณะกรรมการกิจการโทรคมนามแห่งชาติ(กทช.)กำหนดไว้ 3 เดือนเริ่มใช้ได้
ทั้งนี้ เอไอเอสมีการส่งข้อความ SMS ประมาณ 100 ล้านข้อความ/เดือน,DTAC ก็มีจำนวนใกล้เคียงกัน ที่ 100 ล้านข้อความ/เดือน ส่วน TRUE MOVE มีจำนวน 70 ล้านข้อความ/เดือน ขณะที้มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ประมาณ 1 พันราย/โอเปอเรเตอร์