ซีพี-มิตรผล แนะลู่ทางการลงทุนในอาเซียนดูขนาดตลาด-ความจำเป็นให้ดี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 10, 2009 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางกอบบุญ ศรีชัย รองกรรมการผู้จัดการ สำนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF)กล่าวในงานเสวนาเรื่อง"โอกาสลู่ทางการค้า การลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"ว่า กลยุทธ์หลัก 4 ประการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ยึดถือสำหรับการเข้าไปลงทุนในอาเซียนจะพิจารณาจากขนาดของตลาดที่จะรองรับธุรกิจ เช่น อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม ซึ่ง 3 ประเทศเหล่านี้ถือเป็นตลาดใหญ่เพราะมีจำนวนประชากรรวมกันเกือบ 400 ล้านคน ในขณะที่ทั้งอาเซียนมีจำนวนประชากรราว 560 ล้านคน

รวมทั้ง เทคโนโลยีและมาตรฐานการผลิตที่จะต้องนำไปใช้ในประเทศเหล่านั้น เงินทุนที่เพียงพอ และ บุคลากรที่จะต้องมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน

นอกจากนี้ ผู้ลงทุนควรต้องศึกษาเพิ่มเติมในอีก 4 ด้านที่ขาดไม่ได้สำหรับการเข้าไปขยายการลงทุนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน คือ วัตถุดิบอย่างเพียงพอที่จะใช้ผลิตสินค้า, การศึกษากฎหมายต่างๆ ทั้งด้านการส่งออก-นำเข้า กฎหมายทางการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน, ทักษะฝืมือของแรงงานในท้องถิ่น และศึกษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน

อนึ่ง ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจด้านการเกษตรและอาหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ขยายการลงทุนในอาเซียนแล้วถึง 8 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม, พม่า, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์ และลาว ยกเว้น บรูไน ซึ่งอาจจะไม่คุ้มค่าในการเข้าไปลงทุนจัดตั้งโรงงานเนื่องจากมีจำนวนประชากรน้อย

นางกอบบุญ กล่าวว่า การเข้าไปขยายการลงทุนในประเทศต่างๆ ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมการเข้าไปลงทุนด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีพันธมิตรทางธุรกิจ เนื่องจากเชื่อว่าการลงทุนด้วยตัวเองจะทำให้ง่ายในการบริหารจัดการองค์กร และเกิดปัญหาความขัดแย้งทางธุรกิจน้อยกว่า โดยปัจจุบันมีธุรกิจในประเทศลาว และรัสเซีย ที่ทางกลุ่มเข้าไปลงทุนและเป็นผู้ถือหุ้นเต็ม 100%

"เชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนพอสมควร เราเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะไปสร้างโอกาสทางธุรกิจในประเทศอื่นๆ ได้ แต่เราต้องมองด้วยว่าเรามีความเชี่ยวชาญด้านไหน เพราะถ้าลงทุนในประเทศที่มีคู่แข่งเก่งกว่า แม้จะเป็นประเทศที่เปิดเสรีการค้า แต่โอกาสแพ้ก็มากกว่าชนะ ยกเว้นว่าเรามีหมัดเด็ด ดังนั้นเราต้องรู้ว่าเราเชี่ยวชาญด้านไหนถึงจะปราบคู่แข่งได้" นางกอบบุญ กล่าวในการเสวนาเรื่อง “โอกาสสู่ทางการค้า การลงทุน ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เสนอแนะว่า หากธุรกิจไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาการใช้วัตถุดิบหรือการใช้ที่ดินของต่างประเทศ ควรเลือกลงทุนในประเทศไทยเองจะดีกว่า โดยเฉพาะธุรกิจด้านอุปโภค-บริโภคที่สามารถควบคุมการผลิตได้อย่างแน่นอนและมีมาตรฐานกว่า ประกอบกับต้นทุนต่ำกว่า และการคุ้นเคยต่อกฎระเบียบทางการค้าของประเทศเอง ที่สำคัญการเข้าไปร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นอาจมีปัญหาในการบริหารงานได้

แต่หากเป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดิน และวัตถุดิบของต่างประเทศ ประกอบกับการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่คุ้มค่ากว่า ก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีหากจะเข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านั้น เช่น การผลิตน้ำตาลทราย ที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่การเกษตรเพื่อปลูกอ้อยในจำนวนมาก ซึ่งการที่มิตรผลได้เข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลมิตรลาว ที่แขวงสะหวันนะเขต เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ที่ดินจำนวนมากเพาะปลูกอ้อย และเพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากการส่งน้ำตาลไปจำหน่ายในสหภาพยุโรปด้วย

"ถ้าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาที่ดิน หรือวัตถุดิบ ก็ให้ทำในไทยดีกว่า เพราะเราสามารถควบคุมคุณภาพ ต้นทุน คุ้นเคยกฎระเบียบมากกว่า...เว้นแต่จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี หรือได้รับยกเว้นเรื่องการนำเงินกลับเข้าไทย"นายอิสระ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้เริ่มเข้าไปลงทุนปลูกอ้อยในพื้นที่แขวงสะหวันนะเขตประเทศลาวตั้งแต่ปี 48 และเริ่มก่อตั้งโรงงานน้ำตาลมิตรลาว ในปี 50 โดยได้รับสิทธิพิเศษในการผลิตน้ำตาลทรายเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป(EU) และเริ่มเปิดหีบอ้อยได้ในเดือน พ.ย.51 โดยน้ำตาลทรายล็อตแรกจากโรงงานน้ำตาลมิตรลาวถูกส่งไปจำหน่ายใน EU ที่ประเทศอังกฤษเมื่อเดือนก.ค.52



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ