นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ภายหลังที่ประชุมวุฒิสภามีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท คงต้องรอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา เพื่อแปรญัติในวาระ 2 และ 3 เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ พ.ร.บ.กู้เงินฯ 4 แสนล้านบาทจะผ่านความเห็นชอบจากกระบวนการรัฐสภาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ แต่การกู้เงินตามกฎหมายดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงในช่วงปลายปี 53 โดยขณะนี้ยังไม่มีการจัดทำแผนการกู้เงินตาม พ.ร.บ. เพราะจะต้องรอให้มีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 4 แสนล้านบาทแล้วเสร็จก่อน
"ตอนนี้ยังไม่มีการจัดทำแผนการกู้เงินตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพราะต้องรอให้กู้เงินตาม พ.ร.ก.ให้หมดก่อน"นายจักรกฤศฎิ์ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
รองผู้อำนวยการ สบน. กล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ 4 แสนล้านบาท หลังจากได้ออกพันธบัตรไทยเข้มแข็ง วงเงิน 80,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยในวันที่ 15 ส.ค.นี้ จะมีประชุมถึงรายละเอียดถึงแผนการออกพันธบัตรตามโครงการลงทุนต่างๆ
"เรารอให้มีรายละเอียดของโครงการลงทุนให้ชัดเจนก่อน จึงจะมีการทำแผนการกู้เงินได้"รองผู้อำนวยการ สบน. กล่าว
สำหรับการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ชะลอการกู้เงินต่างประเทศจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย(เอดีบี) วงเงิน 500 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากกระทรวงการคลังพิจารณาถึงความจำเป็นของการกู้เงินมากกว่า
ส่วนจะเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบการกู้เงินต่างประเทศตาม Program Loan วงเงินรวม 2,000 ล้านดอลลาร์ ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญในคราวเดียวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม โดยแผนกู้เงินดังกล่าวแบ่งเป็นการกู้เงินจากธนาคารโลก 1,000 ล้านดอลลาร์ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) 500 ล้านดอลลาร์ ส่วนการกู้จากเอดีบี 500 ล้านดอลลาร์ชะลอไปก่อน