คลังทำแผนกู้เงินปีงบ 53 วงเงิน 7 แสนลบ.โดยออกพันธบัตร-ขอกู้แบงก์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 13, 2009 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.ได้วางแผนกู้เงินในปีงบประมาณ 53 จำนวน 7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการออกพันธบัตรไตรมาสละ 1 แสนล้านบาท รวม 4 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ และออกพันธบัตรออมทรัพย์ อายุ 5 และ 10 ปี เนื่องจากได้รับความสนใจจากตลาดมากที่สุด

นอกจากนี้การจัดทำงบประมาณประจำปีงบประมาณ 53 จะเสนอของกระทรวงการคลังตั้งงบประมาณ เพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท จากที่เสนอของตั้งงบประมาณไว้แล้ว 1.98 แสนล้านบาท เพื่อชำระดอกเบี้ย จากการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาท

สำหรับ การกู้เงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ได้มีตั้งคณะกรรมการกู้เงินเพื่อโครงการไทยเข้มแข็ง พิจารณาแนวทางการแปลงเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์เป็นพันธบัตรระยะยาว เนื่องจากขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องในระบบสูงมาก อีกทั้งดอกเบี้ยต่ำ จึงถือว่าเป็นจังหวะดีในการดำเนินการ โดยที่จะแปลงหนี้เงินกู้ธนาคารพาณิชย์ เป็นพันธบัตรระยะยาว อายุ 15 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี และการแปลงหนี้เป็นพันธบัตรระยะยาว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการรีไฟแนนซ์ เพราะปีนี้มีสภาพคล่องในระบบเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่มีปัญหาในการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

"ยอมรับว่าจากนี้ไป การระดมทุนอาจมีความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะการออกตราสารหนี้ระยะยาว เพราะไม่สามารถคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ไม่มีใครอยากลงทุนยาวๆ แม้จะประเมินแล้วว่าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว เงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้น อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นตามไปด้วย"

ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวอีกว่า ในวันนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP 2) เพื่อติดตามดูราคากลางของโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 วงเงินรวม 1.06 ล้านล้านบาท เพื่อพิจารณารายละเอียดของเงินลงทุนแต่ละโครงการ และอาจต้องปรับแผนการลงทุนใหม่ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปีงบประมาณ 52 คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย 1.7 แสนล้านบาท น้อยลงจาการคาดการณ์เดิม ที่คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย 2.8 แสนล้านบาท ทำให้ความจำเป็นในการกู้เงิน ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสน ล้านบาท เพื่อชดเชยเงินคงคลัง อาจน้อยกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้รัฐบาล มีเงินเหลือมาลงทุนเพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้ หลังได้มีความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการลงทุนตาม SP 2 แล้ว จะนำเสนอต่อ รมว.คลัง พิจารณา และคาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชม ครม.วันที่ 18 ส.ค.52 เพื่อให้ความเห็นชอบโครงการลงทุนเป็นครั้งสุดท้าย และคาดว่าเม็ดเงินลงทุนก้อนแรกจะอัดฉีดเข้าสู่ระบบ 30,000 ล้านบาท ภายใน ก.ย.นี้ และภายในไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 53 (ต.ค.-ธ.ค.52) คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเงินเข้าสู่ระบบถึง 200,000 ล้านบาทแน่นอน

"งบลงทุนก้อนแรกจะเป็นโครงการของกรมทางหลวงในการซ่อมบำรุงถนนทั่วประเทศ โครงการของทหาร และโครงการเพิ่มทุนให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทั้งหมด" ผู้อำนวยการ สบน. กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ