(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.52 อยู่ที่ 66.3

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 13, 2009 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน ก.ค.52 อยู่ที่ 66.3 เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย.52 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 65.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 65.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 88.5

ดัชนีฯ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.พ.52 โดยมีปัจจัยบวกมาจากการขยายโครงการ 5มาตรการ 6 เดือนเพื่อช่วยลดต่าครองชีพให้ประชาชนจนถึงสิ้นปี 52, คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.25% ต่อปี, ความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง, การปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

ขณะที่มีปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง, ความกังวลเรื่องค่าครองชีพและราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง และ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไข้หวัด 2009 ต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

"ดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 เป็นเพราะประชาชน คาดหวังกับมาตรการไทยเข้มแข็งเป็นหลัก ซึ่งประชาชนเห็นว่าการที่รัฐบาลจะกู้เงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 53 จำนวน 2 แสนล้านบาท น่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระตุ้นการลงทุนได้"ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ระบุ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังคาดการณ์ว่า การบริโภคภาคเอกชนจะยังขยายตัวไม่มากนักไปจนถึงไตรมาส 4/52 เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการยังทรงตัวต่ำกว่าระดับปกติที่ 100 โดยผู้บริโภคยังกังวลกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ภาวะการจ้างงานที่ยังไม่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งส่งผลทางจิตวิทยาเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าสัญญาณการบริโภคภาคเอกชนน่าจะเริ่มดีขึ้นได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/53 เป็นต้นไป

"ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปีนี้ยังไม่น่าปรับตัวดีขึ้นเป็นปกติ แต่จะเห็นสัญญาณการบริโภคเริ่มดีขึ้น ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปีหน้าเป็นต้นไป และจะเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาส 2 ปีหน้า ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ในไตรมาส 3 ปีนี้ยังเป็นเพียงแค่ทรงตัวในระดับต่ำ" ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ระบุ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจปีนี้ ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมการทำการตลาด เนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ระดับไม่ดีนัก และตลาดยังเป็นของผู้ซื้อ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็ยังไม่โดดเด่นเช่นกัน โดยต้องรอการฟื้นตัวของยอดขายที่น่าจะเห็นชัดเจนได้ในช่วงปลายไตรมาส 1/53 ดังนั้น แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 52 คงต้องเน้นที่ภาครัฐ โดยเฉพาะการผลักดันงบประมาณการลงทุน ภายใต้โครงการลงทุนตามแผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็ง และการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 52


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ