นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 4/52 จะเริ่มฟื้นตัวได้ โดยคาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อยที่ 1-2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/51 แต่ทั้งปี 52 ก็ยังคาดว่าเศรษฐกิจจะติดลบ 3.5%
การคาดการณ์ดังกล่าวขึ้นกับเงื่อนไขสำคัญ 4 ด้าน คือ เศรษฐกิจโลกไม่ทรุดตัวลงไปมากกว่านี้, ราคาน้ำมันในตลาดโลกในไตรมาส 4/52 ไม่สูงเกินไปกว่าระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล, สภาพการเมืองในประเทศไม่มีปัญหา และสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ไม่รุนแรง
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/52 คาดว่าจะได้รับอานิสงค์จากมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 52 ในส่วนที่ยังเหลืออยู่ให้ได้ตามเป้า ประกอบกับ ความคาดหวังของประชาชนเองที่เห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นจากโครงการลงทุนต่างๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง รวมทั้งภาวะการส่งออกที่เริ่มมีสัญญาณการติดลบน้อยลง
ขณะที่ไตรมาส 2/52 ซึ่งยังรอการประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)อย่างเป็นทางการจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)นั้น นายธนวรรธน์ คาดว่าจีดีพีไตรมาส 2/52 จะติดลบราว 5-6% ซึ่งติดลบน้อยลงกว่าไตรมาสแรก เป็นผลมาจากภาคการบริโภคและภาคการผลิตเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น จากยอดคำสั่งซื้อสินค้าที่มีเข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3/52
นอกจากนี้ยังเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท, มาตรการเรียนฟรี 15 ปี, การเบิกจ่ายงบประมาณราว 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งถูกหมุนเวียนมาเป็นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยสังเกตได้จากยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในช่วงไตรมาส 2/52 รวมทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก
ด้านนายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า จีดีพีของไทยจะเริ่มเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 4/52 ซึ่งเป็นผลตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้เชื่อว่าการส่งออกในช่วงดังกล่าวจะปรับตัวดีขึ้นได้ ขณะที่แนวโน้มการจัดเก็บภาษีที่สำคัญ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า อากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จีดีพีจะฟื้นตัวเป็นบวกได้
"เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้เร็วเท่าไร เศรษฐกิจของเราก็มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วมากเท่านั้น ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดหมาย ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 53 คงจะดีขึ้นเช่นกัน แต่จะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหนคงขึ้นกับปัจจัยในประเทศเองด้วย ว่าจะเป็นตัวเสริมหรือบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด" นายสมเกียรติ กล่าว
สำหรับปัจจัยลบสำคัญ 2 เรื่อง ที่หอการค้าไทยมองว่ายังเป็นตัวกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คือ สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อสีต่างๆ และความมั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งต้องยอมรับว่านักลงทุนต่างชาติยังเป็นห่วงและมองว่าเป็นจุดอ่อนของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ที่ไม่มีปัญหาการเมือง
และ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และเชื่อว่าจะยังมีโอกาสสูงขึ้นต่อไปอีก เพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจึงทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นตาม