นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) คาดว่า อัตราดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์จากนี้ไปจะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่คงปรับขึ้นในอัตราไม่มากนักและจะปรับขึ้นอย่างชัดเจนในปี 53 เป็นต้นไป
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะยังทรงตัวที่ระดับ 1.25% ไปจนถึงไตรมาส 2/53 เนื่องจากทางการต้องการเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้น แต่มีความเป็นไปได้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 53 เป็นต้นไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่ระดับ 0.25% คงจะเริ่มปรับขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับดอกเบี้ยนโยบายของไทย จนทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยต้องปรับสูงขึ้นไปเพื่อรักษาส่วนต่างเอาไว้
นายประสาร คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะมีทิศทางดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี 53 จะสามารถกลับมาเป็นบวกได้ 2-3% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยพ้นจากภาวะติดลบเรื้อรัง ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นกัน ทำให้มองว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับสูงขึ้นตาม
นอกจากนั้น ภาวะเศรษฐกิจในปี 53 จะต้องเปรียบเทียบกับฐานตัวเลขของปี 52 ที่อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อปี 53 จะขยายตัวไปสูงถึง 3-5% และจะมีผลทำให้ดอกเบี้ยในระบบสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำ ภาคธุรกิจควรเร่งปรับโครงสร้างหนี้หรือปรับโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้ง่ายกว่าช่วงที่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น
"ตอนนี้จุดอ่อนทางการเงิน เช่นการปรับโครงสร้างหนี้ การปรับโครงสร้างธุรกิจ หรือปรับต้นทุนการค้า หากแก้ไขในปีนี้ได้ก็เป็นเรื่องดี ยังแก้ปัญหาได้ไม่ยุ่งยาก เพราะปีนี้เชื่อว่าดอกเบี้ยคงปรับสูงขึ้นไม่มาก แต่ถ้าดอกเบี้ยสูงจะปรับโครงสร้างหนี้ลำบาก" นายประสาร กล่าว
กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังมีแผนการกู้เงินในปีงบประมาณ 53 (ต.ค.52-ก.ย.53) วงเงินรวม 7 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า ควรมีรูปแบบการกู้เงินที่ผสมผสานในหลายวิธี และพิจารณาจังหวะเวลาที่เหมาะสมของการกู้เงิน เพื่อไม่ให้กระทบต่ออัตราผลตอบแทนในตลาด
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมเศรษฐกิจขณะนี้ รัฐบาลต้องมีการใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการที่ภาคเอกชนยังมีการลงทุนน้อย การใช้จ่ายประชาชนยังมีอยู่น้อย ภาครัฐจึงต้องมีการใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อถ่วงดุลกัน และเมื่อถึงเวลาที่เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ภาครัฐคงลดการใช้จ่าย หากภาคเอกชนเริ่มกลับมาขยายการลงทุน
"การทำให้ดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้น คงไม่เป็นผลดีของกระทรวงการคลัง แต่ดูจากแผนการกู้เงินแล้ว มีความหลากหลาย ไม่ใช่กระจุกตัวทางใดทางหนึ่ง ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหรือผู้เกี่ยวข้อง" กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าว
ขณะที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย (KBT) กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีแผนกู้เงินในตลาดกว่า 7 แสนล้านบาทนั้น ยอมรับว่าอาจจะกระทบต่อสภาพคล่องในระบบบ้าง แต่คงไม่ได้ทำให้สภาพคล่องในระบบหดหายไปทั้งหมด โดยปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีสภาพคล่องส่วนเกินเฉลี่ยสูงถึง 50,000-60,000 ล้านบาท
และการกู้เงินของรัฐบาลที่กระทบต่อสภาพคล่องในระบบ ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้มีการแข่งขันในการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากในตลาด เพื่อแย่งสภาพคล่องกันบ้าง
"ดอกเบี้ยเงินฝากมีโอกาสเพิ่มขึ้น เพราะหากสภาพคล่องหายไป ก็จะมีการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก และเท่ากับว่าต้นทุนของแบงก์ก็เพิ่มขึ้น ดังนั้น หากต้นทุนแบงก์ไม่ลดและอาจเพิ่มขึ้น การลดดอกเบี้ยเงินกู้คงทำได้ยาก" นายอภิศักดิ์ กล่าว