นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงยังไม่มีนโยบายให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นค่าเรือโดยสาร โดยจะขอความร่วมมือให้ชะลอไปก่อน วันที่ 25 ส.ค.นี้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี(ขน.) และผู้ประกอบการเรือโดยสาร จะหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง
"ที่ผ่านมาบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา ได้เสนอขอปรับขึ้นค่าเรือโดยสารมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่มีการอนุมัติให้ปรับค่าโดยสาร โดยขอให้ชะลอไว้ก่อนเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน แต่ครั้งนี้คงจะต้องมาพิจารณาในรายละเอียด และอาจต้องขอให้ผู้ประกอบการชะลอการปรับขึ้นค่าโดยสาร แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำมันด้วย"นายเกื้อกูล กล่าว
ด้านนายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง กล่าวว่า ยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นค่าโดยสารรถขนส่งสาธารณะในขณะนี้เช่นกัน เนื่องจากรถโดยสารส่วนใหญ่กว่า 70-80% ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะอ้างเรื่องราคาน้ำมันดีเซลเพื่อขอปรับขึ้นค่าโดยสาร แต่ผู้ประกอบการบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก็จะพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการฯ ต่อไป
นายพิเชษฐ เจียมบุรเศรษฐ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลกำหนดมาตรการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ในส่วนของน้ำมันดีเซล 2 บาท/ลิตร ได้ช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนของผู้ประกอบการรถโดยสารร่วมบริการ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ขณะที่ผู้ประกอบการรถร่วม บขส. ก็จะไม่เรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าโดยสารในขณะนี้ เพราะเห็นว่าราคาน้ำมันปัจจุบันที่ลิตรละ 27.69 บาท สูงกว่าราคาน้ำมันที่ใช้เป็นฐานในการจัดเก็บค่าโดยสารเพียงลิตรละ 1 บาท ซึ่งผู้ประกอบการยังยอมรับได้ และหากให้ปรับขึ้นค่าโดยสารจะทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องร้องขอให้ บขส.และรัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการจากผลกระทบของรถตู้เถื่อน และการให้บริการรถไฟฟรี ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากกับผู้ประกอบการ โดยทำให้ปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการลดลงกว่า 30% เป็นเหตุให้รายได้ของผู้ประกอบการลดลง ผู้ประกอบการต้องการให้ บขส.ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บกับผู้ประกอบการคิดเป็นเงินประมาณปีละ 800 ล้านบาท
"หากผมพูดว่าไม่อยากให้มีโครงการรถไฟฟรีก็เหมือนเอกเชนเห็นแก่ตัว เพราะโครงการดังกล่าวช่วยเหลือประชาชน แต่รัฐบาลก็ต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย เพราะผู้ประกอบการก็เป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการพยายามเรียกร้องให้ บขส.ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลาเท่ากับมาตรการรถไฟฟรี แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุน หลังจากนี้ก็คงต้องหาแนวทางเคลื่อนไหวอื่นๆ ต่อไป" นายพิเชษฐ กล่าว
นายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนในการให้บริการรถโดยสารร่วมบริการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งตามหลักแล้วคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางจะต้องปรับขึ้นค่าโดยสารให้กับผู้ประกอบการทั้งรถโดยสารปรับอากาศ และรถธรรมดา อีกอย่างน้อย 1 บาท ขณะเดียวกันยังต้องการให้รัฐบาลกำหนดตารางราคาน้ำมันและค่าโดยสารเพื่อประกาศใช้ได้ทันทีหลังจากราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลง โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องทำหนังสือขอขึ้นค่าโดยสารทุกครั้งที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น
ส่วนกรณีที่ ขสมก.ประกาศยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บกับผู้ประกอบการนั้นไม่ถือว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพราะที่ผ่านมา ขสมก.ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการมาตลอด เพราะต้องการชะลอการปรับขึ้นค่าโดยสาร
นายโอภาส เพชรมุณี รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า ปัจจุบัน ขสมก.ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรถร่วมที่ได้ปรับเปลี่ยนรถโดยสารใช้เอ็นจีวี โดยยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการรถโดยสารปรับอากาศวันละ 60 บาทต่อคัน รถธรรมดาวันละ 35 บาทต่อคัน ส่วนเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสารนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง