นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน แถลงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 41 ว่า ที่ประชุมให้ความสำคัญกับประเด็นการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการในอาเซียนหลังจากประเมินว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะปัญหาด้านการค้าและการส่งออกเท่านั้น สิ่งที่สมาชิกเห็นชอบร่วมกันคือการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นระหว่างองค์กรที่อำนวยความสะดวกด้านการนำเข้า-ส่งออกของแต่ละประเทศ
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียนไปศึกษาความเป็นไปได้ว่าองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นนี้จะมีความร่วมมือระหว่างกันอย่างไร เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในอาเซียนในการจัดหาแหล่งเงินทุนในการประกอบธุรกิจ
"ปัญหาท้ายสุดอยู่ที่ดีมานด์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่เป็นตลาดหลักของอาเซียนหายไป เพราะฉะนั้นไม่ใช่เทรดไฟแนนซิ่งมีไม่พอ แต่จะทำอย่างไรที่จะกระตุ้นการบริโภคและสร้างตลาดภายในอาเซียนเอง เราจะให้เอ็กซิมแบงก์ของแต่ละประเทศมาพบปะหารือกันว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างไร"นายสุรินทร์ กล่าว
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังเห็นความสำคัญต่อการส่งเสริมให้เขตการลงทุนของอาเซียนเป็นที่สนใจและดึงดูดนักลงทุนจากภูมิภาคอื่น เพราะเมื่อพิจารณาจากข้อมูลการลงทุนแล้วจะพบว่าแม้ในช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอาเซียนยังมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาสูงถึง 60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศจีนที่มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าไปถึง 80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงจำเป็นที่ชาติในอาเซียนต้องร่วมกันจัดทำระบบโลจิสติกส์ให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งด้านการผลิต การลงทุน และการตลาด ให้มีความสะดวกมากขึ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นหลัก
ด้านนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังเห็นพ้องต้องกันเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าใน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย การรวบรวมข้อมูลการค้า ตลอดจนมาตรการทางการค้าต่าง ๆ ของประเทศอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน และนำเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซด์, การแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่มีภาครัฐและเอกชนร่วมกันเป็นคณะกรรมการ และ การอนุมัติให้แต่ละประเทศในอาเซียนสามารถรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.55 เป็นต้นไป