มอร์แกน สแตนลีย์ แสดงความเห็นว่า แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวในอัตรา 3.7% ต่อปีในไตรมาส 2 ของปีนี้ แต่คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงในไตรมาส 3 โดยคาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 2.9%ต่อปีในไตรมาส 3 เนื่องจากภาคเอกชนของญี่ปุ่นยังคงลดการลงทุนและการจ้างงาน แม้รัฐบาลทั่วโลกใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นวงเงินรวมกว่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์แล้วก็ตาม
บริษัทหลายแห่งของญี่ปุ่น รวมถึงบริษัท นิคอน คอร์ป และเอ็นอีซี อิเล็กทรอนิกส์ กำลังลดต้นทุนและลดการจ้างงานเพื่อชดเชยการขาดทุน ขณะที่อัตราว่างงานในญี่ปุ่นพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์และหนี้สาธารณะภายในประเทศทะยานขึ้นเกือบ 2 เท่า ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 30 ส.ค.นี้
"เราไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวอย่างยั่งยืน เพราะอัตราการอุปโภคบริโภคภายในประเทศยังไม่แข็งแกร่งมากพอที่จะหนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งได้ แม้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจะทรุดตัวลงขนานใหญ่ แต่เราก็แทบมองไม่เห็นช่วงขาขึ้นของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเช่นกัน" โรเบิร์ต เฟลด์แมน หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจของมอร์แกน สแตนลีย์ในกรุงโตเกียวกล่าว
เซอิจิ ชาราอิชิ หัวหน้านักวิเคราะห์จาก HSBC Securities Japan Ltd ในกรุงโตเกียว คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจไม่ขยายตัวอย่างยั่งยืน เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั่วโลกที่มีมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ไม่สามารถกระตุ้นยอดขายรถยนต์ของญี่ปุ่นได้ รวมถึงยอดขายของโตโยต้า มอเตอร์ และคูโบต้า คอร์ป นอกจากนี้ กว่า 40% ของโรงงานผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นยังคงปิดทำการ แม้หลายบริษัทพยายามลดต้นทุนและลดการจ้างงานแล้วก็ตาม
บลูมเบิร์กรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวดิ่งลงหนักสุดในรอบ 4 เดือนเมื่อวานนี้ เนื่องจากความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงเนื่องจากผลกระทบในด้านบวกที่เกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มเหือดแห้งลง ขณะที่โพลล์สำรวจความคิดเห็นของชาวญี่ปุ่นบ่งชี้ว่า พรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของนายกรัฐมนตรีทาโร่ อาโสะ จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคดีพีเจซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านและยังไม่เคยจัดตั้งรัฐบาลมาก่อน