กสิกรฯ เผย ศก.ไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดปีนี้ยังหดตัว 3.5-5%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 19, 2009 11:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 52 จะหดตัว 3.5-5.0% โดยกรอบบนของประมาณการเป็นกรณีที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กรอบล่างของประมาณการรองรับกรณีผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

โดยจากภาพที่สะท้อนมาจากตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนที่มีการรายงานออกมา แม้ว่าในช่วงไตรมาส 2/52 การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนยังคงมีอัตราการหดตัว เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนสูงขึ้นกว่าในไตรมาส 1/52 แต่การปรับตัวดีขึ้นของภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริโภค รวมทั้งผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล น่าจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น และก้าวพ้นจุดต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยในรอบนี้มาแล้ว

ดังนั้นจึงคาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/52 ที่ปรับฤดูกาลแล้ว จะเริ่มขยายตัวเป็นบวกได้ประมาณ 2.3% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เศรษฐกิจในไตรมาส 2/52 ยังคงหดตัวสูงที่ 5.1% แต่ก็เป็นอัตราลบที่ชะลอลงไตรมาส 1/52

สำหรับแนวโน้มในระยะข้างหน้า ดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ บ่งชี้ว่า โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะ 3 เดือนข้างหน้า(ก.ค.-ก.ย.52) เพิ่มขึ้นมาที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 74% สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ประเมินในเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 63% สะท้อนว่า ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจน่าจะใกล้สิ้นสุด และอาจเริ่มเห็นดัชนีพ้องเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ภายใน 3 เดือนข้างหน้า

ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/52 น่าจะยังขยายตัวเป็นบวกได้ต่อเนื่องเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า แต่เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนยังคงหดตัวในอัตราชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ผนวกกับผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการไทย แม้ต้องเผชิญกับปัจจัยลบภายในประเทศที่สำคัญ คือ การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งอาจกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและกิจกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค

สำหรับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 52 นี้ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ G-3 เนื่องจากเป็นการฟื้นตัวขึ้นจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการในแต่ละประเทศ ที่จะค่อยๆ ลดลงในปีหน้า และการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออัตราการว่างงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ผู้บริโภคเริ่มคลายความหวาดกลัวต่อพิษวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นตามมา เมื่อครัวเรือนสร้างสมการออมกลับขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง ชดเชยกับความมั่งคั่งที่สูญเสียไปกับมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลงอย่างมากในช่วงวิกฤต ซึ่งในส่วนนี้อาจขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของราคาสินทรัพย์ด้วย

ด้านปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ยังคงเป็นประเด็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่แม้ว่าขณะนี้ได้ชะลอความรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่วิวัฒนาการของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A H1N1 ยังเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองมีเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าที่มีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เสนอแนะว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่สูงนี้ รัฐบาลจึงควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และเร่งผลักดันโครงการลงทุนของรัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้คืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งดูแลปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับประคับประคองสถานการณ์การเมืองลดชนวนที่จะนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรง ที่จะกลับมาซ้ำเติมปัญหาในภาคการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังไม่ฟื้นจากความบอบช้ำในช่วงที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ