นักวิชาการ-นายแบงก์ มองศก.ไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่ระวังปัจจัยเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 19, 2009 18:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการมองภาวะเศรษฐกิจไทยกำลังจะอยู่ในช่วงฟื้นตัว หลังผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่ต้องระมัดระวังความเสี่ยงในประเทศ ทั้งฐานะการคลัง การลงทุน และปัจจัยด้านการเมือง ขณะเดียวกันแนะเตรียมเก็บหุ้นระยะยาว เชื่อปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นแน่ ขณะที่นายธนาคารเห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆฟื้นตัว และยังกังวลออเดอร์ส่งออกที่เห็นว่าเป็นเพียงการสั่งเข้ามาสต็อกเพิ่มไม่ใช่จากความต้องการเพิ่มขึ้นจริง นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงานเสวนาเรื่อง"วิกฤติเศรษฐกิจ กับทิศทางตลาดเงิน"ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวในลักษณะ V-Shape และถือว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และขณะนี้เป็นช่วงที่เรียกว่า After Shock ทำให้ตลาดเงินยังมีความผันผวนมาก และยังมีเม็ดเงินไหลออกจากประเทศตะวันตก มาลงทุนในประเทศในแถบเอเซียมากขึ้น

ส่วนเศรษฐกิจไทยนั้นแม้ขณะนี้จะเป็นการฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก แต่เป็นการฟื้นตัวที่ไม่สดใส อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ โดยเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอาจทำให้ภาคการส่งออกของไทยดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในลักษณะซื้อมาขายไป ที่ผูกติดกับเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ ยังไม่ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากภาคเอกชน ยังไม่มั่นใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้น การลงทุนภาครัฐจึงยังเป็นกลไกหลักต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นบวกในไตรมาส 4/52 แต่ทั้งปีเศรษฐกิจยังหดตัว 3.5% และปี 53 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2-2.5% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะปัญหาฐานะการคลัง จากการที่รัฐบาลมีการใช้เม็ดเงินสูง เพื่อการลงทุนภาครัฐ ดังนั้น ในปี 54-56 รัฐบาลจะต้องดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตรา 4-5% เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวมากเพียงพอที่จะไม่สร้างปัญหาต่อฐานะการคลัง

"การกู้เงินลงทุนของรัฐบาลต้องทำให้คุ้มค่าต่อเศรษฐกิจ ไม่ให้เกิดการรั่วไหล เพราะหากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวจะมีปัญหาฐานะการคลังแน่นอน การที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพเป็นเวลาหลายปี จะนำไปสู่ปัญหาฐานะการคลังและนำไปสู่ปัญหาความไม่สงบในบ้านเมือง เกิดความขัดแย้งในสังคม และจะนำไปสู่วิกฤติการเมืองได้อีก ซึ่งเกิดจากปัญหาของโครงสร้างอยู่แล้ว ไม่ใช่ปัญหาจากตัวบุคคล" นายอนุสรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากความกังวลของกระแสการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในช่วงปลายปี 52 ที่อาจจะกระทบต่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล และอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ แต่หากระบบราชการมีความแข็งแกร่ง ก็น่าจะทำให้นโยบายต่างๆ ยังเดินหน้าต่อไปได้

นายอนุสรณ์ ยังเชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยในตลาดในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจจะปรับลดลงได้อีก 0.25-0.50% เพื่อช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ หากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวได้ตามที่คาดการณ์ แม้การลดดอกเบี้ยจะไม่มีประสิทธิภาพต่อการกระตุ้นการลงทุนมากนัก แต่ก็ยังถือเป็นความจำเป็น

ส่วนทิศทางค่าเงินบาท เชื่อว่ายังคงแข็งค่าต่อเนื่องไปอีกระยะ เป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ การเกินดุลการค้า จากการนำเข้าหดตัวรุนแรง สะท้อนการลงทุนในประเทศที่ยังไม่ขยายตัวได้เท่าที่ควร แม้การส่งออกยังหดตัว แต่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาส 4/52 อย่างไรก็ตาม เห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรเข้ามาดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ส่งออก เช่นเดียวกับนโยบายจากหลายประเทศในภูมิภาคที่เข้ามาแทรกแซงค่าเงินไม่ให้แข็งค่ามาก

ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นไทย มั่นใจว่าจะมีการปรับฐานขาลง ดังนั้น นักลงทุนควรเตรียมเข้ามาซื้อหุ้นเก็บไว้ในระยะยาว และมั่นใจว่าช่วงปลายปี 52-ต้นปี 53 การลงทุนในตลาดหุ้นจะปรับขึ้นอย่างแน่นอน อย่างน้อยในช่วง 2-3 ไตรมาส นับจากนี้

"ระวังอย่างให้ปัญหาการเมืองในประเทศ กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่จะทำให้มีเงินไหลออก แม้จะช่วยให้เงินบาทแข็งค่าไม่มากนัก" นายอนุสรณ์ กล่าว

ด้านนายสาธิต อุทัยศรี ที่ปรึกษาสายประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวต่อไปอีก 3 ปีนับจากนี้ แต่เป็นการฟื้นตัวที่ไม่ได้เลวร้าย โดยไทยจะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออก และขอเตือนอย่าชะล่าใจต่อการฟื้นตัวของการส่งออก เพราะขณะนี้เป็นช่วงของการ Re Stocking ไม่ใช่การขยายตัวจากคำสั่งซื้อสินค้าอย่างแท้จริง โดยต้องรอจนกว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน

"จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างช้าๆ แต่ปี 53 เศรษฐกิจไทยจะเป็นบวกได้...การฟื้นตัวของการส่งออก อย่าชะล่าใจ เพราะเข้าใจว่าเป็นการ Re Stocking ต้องรอจนกว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวชัดเจน ถึงจะมีการขยาย Demand มีการเพิ่ม Order อย่างแท้จริง" นายสาธิต กล่าว

นายสาธิต กล่าวอีกว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ยังคงมีความผันผวนตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ค่าเงินบาท ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง พร้อมเสนอแนะนักลงทุนหันไปลงทุนซื้อที่ดินและทองคำ เพื่อการลงทุนในระยะยาว มั่นใจว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในระยะ 1 ปีข้างหน้า ขณะที่การฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ช่วงนี้จะไม่มีดอกเบี้ย หรือการลงทุนในตราสารหนี้ ก็ยังมีความเสี่ยง และลงทุนระยะยาวเกินไป

ส่วนนายสอาด ธีรโรจนวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการเงิน BBL กล่าวว่า เงินดอลลาร์ยังมีความผันผวนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก และยังถูกท้าทายจากกลุ่มประเทศ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน)ที่คิดจะลดบทบาทของดอลลาร์ แต่มองว่าในระยะ 10 ปีข้างหน้า เงินดอลลาร์จะยังคงเป็นเงินสกุลหลักในโลก เพราะยังหาเงินสกุลอื่นมาทดแทนได้ยาก

ส่วนค่าเงินบาทของไทย มองว่ายังคงแข็งค่าจนถึงสิ้นปี 52 เงินบาท โดยคาดว่าเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 33-34 บาท/ดอลลาร์ โดยมาจากการที่มีเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเกินดุลการค้า

"ยังมีเงินไหลเข้ามาลงทุนในประเทศแถบเอเซีย ทำให้เงินสกุลในภูมิภาคยังมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่อง" นายสอาด กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ