ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกไทยเริ่มบวกใน พ.ย.คาดทั้งปีหดตัว 14.5-17.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 20, 2009 09:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 52 อาจหดตัว 14.5-17.5% ดีขึ้นกว่าเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 14.5-19.0% โดยเชื่อว่าการส่งออกของไทยผ่านช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดมาแล้ว และมูลค่าการส่งออกน่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงระยะต่อไป มีมูลค่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์/เดือน

ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกจะหดตัวชะลอลงมาที่ประมาณ 15% ในเดือน ส.ค.52 และเริ่มขยายตัวได้ตั้งแต่เดือน พ.ย.52 และส่งผลให้การส่งออกในช่วงครึ่งหลังปี 52 โดยเฉลี่ยแล้วมีโอกาสติดลบน้อยลงมาเหลือเพียงตัวเลขหลักเดียว จากที่หดตัวสูง 23.5% ในช่วงครึ่งปีแรก

สำหรับตัวเลขการส่งออก ก.ค.52 ที่ยังมีอัตราติดลบสูงที่ 25.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มูลค่าการส่งออกที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่แนวโน้มในเดือนต่อ ๆ ไป คาดว่าจะยังคงปรับตัวดีขึ้นจากการที่ประเทศส่วนใหญ่น่าจะหลุดพ้นจากภาวะถดถอยได้อย่างทั่วถึงมากขึ้นในไตรมาส 3/52 และโดยส่วนใหญ่น่าจะกลับมาขยายตัวในแดนบวกในไตรมาส 4/52

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการส่งออกน่าจะมาจากตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียที่มีจีนและอินเดียเป็นศูนย์กลางของพลังที่จะผลักดันการเติบโตของภูมิภาค อีกทั้งจะมีปัจจัยหนุนจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่จะยิ่งชัดเจนขึ้นในปีข้างหน้าที่ความตกลงการค้าเสรีหลายกรอบจะมีผลบังคับใช้ เช่น ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย การเปิดเสรีภาคการบริการในกลุ่มประเทศอาเซียนในสาขานำร่อง รวมทั้งกรอบความตกลงด้านการลงทุนระหว่างอาเซียน-จีน ที่น่าจะสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการค้าระหว่างกันภายในภูมิภาคยิ่งขึ้น

ส่วนประเทศ G-3 ที่เป็นตลาดหลักของไทยนั้นก็ยังมีความสำคัญ แต่การฟื้นตัวของประเทศในกลุ่มนี้ยังมีความไม่แน่นอน โดยสิ่งที่หลายฝ่ายยังกังวลคือเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้อาจจะกลับมาชะลอตัวเมื่อผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อยๆ หมดไป

ทั้งนี้ ธุรกิจที่คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ก่อน โดยพื้นฐานแล้วน่าจะเป็นกลุ่มสินค้าสำหรับผู้บริโภค เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย ส่วนสินค้าวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิต เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง เหล็ก เคมีภัณฑ์ และพลาสติก น่าจะมีการเติบโตตามไปพร้อมกับตลาดสินค้าขั้นสุดท้าย และความต้องการใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการส่งออกในการแสวงหาโอกาสในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวนี้ สิ่งสำคัญคือการติดตามอย่างเข้าใจต่อกระแสที่นำการฟื้นตัว เช่น ในระยะสั้นในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า ปัจจัยที่จะผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศอาจยังคงเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในแต่ละประเทศ

ขณะที่ในระยะเวลาที่ไกลออกไปในปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอาจจะทำให้โครงสร้างการผลิตและการแข่งขันของบางอุตสาหกรรมเปลี่ยนโฉมหน้าไป อย่างเช่นการพัฒนาเทคโนโยลีรถยนต์สำหรับอนาคต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีกระแสหลักอาจมีผลทำให้ธุรกิจบางประเภทก้าวขึ้นมามีความสำคัญมากขึ้น และ ธุรกิจบางประเภทอาจล้าสมัยลงไป การก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จและการอยู่รอดของผู้ประกอบการในการส่งออกของไทยในอนาคต



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ