นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ทำหนังสือถึงสมาคมผู้ผลิตเอทานอล ขอความร่วมมือผู้ประกอบการระงับการส่งออกเอทานอลไปจนถึงไตรมาส 4/52 เพื่อป้องกันปัญหาเอทานอลในประเทศขาดแคลน หลังสถานการณ์การผลิตเอทานอลตึงตัวในช่วงนี้ ซึ่งเกิดจากการส่งออกวัตถุดิบกากน้ำตาล(โมลาส) และเป็นช่วงปิดหีบโรงงานน้ำตาลทราย โดยยืนยันว่ากระทรวงพลังงานจะเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เอทานอลมีเพียงพอต่อความต้องการ
นอกจากนี้ยังพบว่าโรงงานผลิตเอทานอลหลายแห่งได้ปรับการผลิตจากการใช้ได้เฉพาะโมลาสเป็นวัตถุดิบ มาเป็นใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในการผลิต ขณะนี้มีโรงงาน 3 แห่งได้ดำเนินการปรับระบบการผลิตดังกล่าวแล้ว ได้แก่ โรงงาน เพโตรเรีน จ.กาฬสินธ์ โรงงานขอนแก่นแอลกอฮอล์ และโรงงานไทยแอลกอฮอล์ ซึ่ง 3 รายนี้จะเสนอประมูลแป้งมันสำปะหลังจากกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 24 ส.ค.จำนวน 280,000 ตัน คาดว่าน่าจะสามารถตกลงราคาซื้อขายกันได้ แม้ว่าเอกชนจะต้องการรับซื้อที่ 7 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ภาครัฐต้องการขายในราคา 8 บาท/กิโลกรัม
ทั้งนี้ หากโรงงานผลิตเอทานอลทั้ง 3 แห่ง ประมูลแป้งมันสำปะหลังและผลิตได้ จะสามารถผลิตเอทานอล ประมาณ 100 ล้านลิตร หรือมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ประมาณ 3 เดือนเศษ จากปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้เอทานอลประมาณ 1.2 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ ราคาเอทานอลปรับสูงมาถึงอยู่ที่ 25-26 บาท/ลิตร ตามราคาโมลาสโลกที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีโรงงานเอทานอลที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 2 โรง คือ บริษัท พี เอส ซี สตาร์ช โปรดักชั่น จำกัด กำลังการผลิต 1.5 แสนลิตร/วัน และบริษัท ทีพีเคเอทานอล เฟส 1 กำลังผลิต 3.4 แสนลิตร/วัน ซึ่งจะทำให้ มีโรงงานเอทานอล 18 แห่ง รวมกำลังผลิต 2.915 ล้านลิตร/วัน ส่วนแผนการก่อสร้างโรงงานเอทานอลส่วนที่เหลือได้ชะลออกไปเป็นปีหน้า จำนวน 5 โรง กำลังการผลิตประมาณ 1.7 ล้านลิตร/วัน
ปัจจุบัน การใช้เอทานอลปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 8 แสนลิตร/วัน ในปี 51 เป็น 1.2 ล้านลิตร/วันในปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่า 50% เนื่องจากกระทรวงพลังงานส่งเสริมการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ โดยให้มีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซิน รวมทั้งปรับเปลี่ยนสูตรราคาเอทานอลใหม่ จากเดิมที่อ้างอิงราคาตลาดโลกเป็นสูตรราคาแบบ Cost Plus หรืออ้างอิงราคาวัตถุดิบในประเทศแทน