บลูมเบิร์กเผยเม็ดเงินกองทุนบำเน็จบำนาญในสหรัฐหดตัวหลังขาดทุนในหุ้นนอกตลาด

ข่าวต่างประเทศ Friday August 21, 2009 10:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เม็ดเงินในกองทุนบำเน็จบำนาญสหรัฐที่นำเงินเข้าไปลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) เป็นวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ร่วงลงอย่างหนักเนื่องจากการขาดทุน โดยเม็ดเงินใน 3 กองทุนบำเน็จบำนาญในรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐโอเรกอน และรัฐวอชิงตัน ซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ร่วงลงอย่างน้อย 5.38 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจนถึงขณะนี้กองทุนบำเน็จบำนาญทั้ง 3 แห่งมีเงินอยู่มากนักที่จะต้องเตรียมจ่ายให้กับข้าราชการตำรวจ ครูอาจารย์ และข้าราชการพลเรือนอื่นๆที่จะเกษียณอายุการทำงาน

บลูมเบิร์กรายงานว่า กองทุนบำเน็จบำนาญแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย กองทุนบำเน็จบำนาญแห่งรัฐวอชิงตัน และกองทุนบำเน็จบำนาญแห่งรัฐโอเรกอน มีเงินสดรวมกันเพียง 2.21 หมื่นล้านดอลลาร์ ณ ช่วงปลายปีพ.ศ.2551 ซึ่งร่วงลงไปถึง 59% โดยเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ของกองทุนบำเน็จบำนาญกระจุกตัวอยู่ในหุ้นนอกตลาด

หุ้นนอกตลาด หรือ Private Equity เป็นหุ้นของบริษัทเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นกิจการขนาดเล็กที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น หรือเป็นธุรกิจที่ค้นพบเทคโนโลยีใหม่แต่ยังอยู่ในช่วงการออกแบบผลิตภัณฑ์และสำรวจตลาด บริษัทเกิดใหม่เหล่านี้ต้องการเงินลงทุนแต่ยังไม่มีรายได้และฐานะการเงินยังไม่มั่นคง จึงทำให้ไม่สามารถออกหุ้นกู้ขายประชาชนได้ จึงต้องอาศัยเงินลงทุนในรูปแบบ Private Equity เพื่อก่อร่างสร้างตัว

แกรี่ บรูเบเกอร์ หัวหน้านักวิเคราะห์ของกองทุนบำเน็จบำนาญแห่งวอชิงตันกล่าวว่า "บรรดาผู้จัดการกองทุนหน้าใหม่ๆพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้มีผลตอบแทนกลับคืนมา พวกเราทำงานเพื่อลูกจ้างกว่า 400,000 คน ผมกังวลว่าเราจะมีเงินมากพอหรือไม่ที่จะจ่ายให้กับลูกจ้างที่เกษียณอายุการทำงาน และเราจะทำอย่างไรเพื่อให้มีผลตอบแทนกลับมา"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ