โจเซฟ สติกลิทซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์กล่าวในวันนี้ว่า บทบาทของสกุลเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินหลักในระบบทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของโลกกำลังเป็นที่กังขา และมีความเสี่ยงสูงมากในขณะนี้
"ระบบทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของโลกเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และควรมีประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีนเป็นผู้สนับสนุน หลายประเทศรวมถึงจีนควรมีการหารือกันในเรื่องการหาสกุลเงินใหม่มาใช้ในระบบทุนสำรองโลก แต่ต้องเป็นการหารืออย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย" สติกลิทซ์กล่าว
สติกลิทซ์ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลสหรัฐและยุโรปต่างพันกันอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ที่เกิดจากการเก็งกำไรและลดโอกาสการลงทุนในด้านอื่นๆ ขณะเดียวกันสติกลิทซ์ไม่มั่นใจในท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ระบุว่าจะสามารถถอนสภาพคล่องออกจากระบบได้หากจำเป็น
"วิกฤตการณ์การเงินโลกสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบทุนนิยมอเมริกัน ที่ผ่านมาระบบการเงินทั่วโลกขับเคลื่อนไปได้เพียงเพราะรัฐบาลอัดงบประมาณช่วยเหลือ และแม้ว่าตลาดได้รับการปกป้องจากภาวะล่มสลายแต่ก็เผชิญความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกควรทำในเวลานี้ก็คือการแก้ไขวิกฤตการณ์อย่างตรงจุด โดยเฉพาะรัฐบาลในกลุ่มประเทศ G20 ซึ่งมีกำหนดจะประชุมร่วมกันในวันที่ 4-5 ก.ย.ที่ลอนดอน" สติกลิทซ์กล่าว
บลูมเบิร์กรายงานว่า สติกลิทซ์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีพ.ศ.2544 หลังจากออกบทวิเคราะห์เรื่องความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในตลาด โดยเขาเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลก และอดีตประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาวในสมัยอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน