ธปท.เสนอ ครม.ลดค่าธรรมเนียมประกันสินเชื่อ SME หนุนภาคเอกชนเข้าโครงการ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 21, 2009 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปิดเผยว่า ธปท.จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาปรับลดค่าธรรมเนียมในโครงการค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)จากปัจจุบันเรียกเก็บในอัตรา 1.75% ของวงเงินค้ำประกัน

เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีร้องเรียนว่าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นอัตราที่สูงเกินไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ให้ความสนใจเข้ารวมโครงการ เห็นได้ว่าตั้งแต่เปิดโครงการเมื่อ 6 มี.ค.-31 ก.ค.52 มีการค้ำประกันสินเชื่อเพียง 1,845 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 2,595 ล้านบาท โดยเป้าหมายอยู่ที่ 4,440 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายรวมทั้งโครงการซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.2553 กำหนดไว้ที่ 30,230 ล้านบาท

นอกจากนั้น ธปท.ยังจะเสนอให้ขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อจากไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 40 ล้านบาท และเพิ่มประเภทธุรกิจให้กว้างขึ้น พร้อมทั้งขยายระยะเวลาของโครงการให้มากกว่า 5 ปี เพื่อป้องกันปัญหาธนาคารพาณิชย์เรียกคืนหนี้ทันทีหลังสิ้นสุดโครงการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่ธุรกิจมากขึ้นด้วย

"แบงก์ชาติจะเป็นตัวกลางคุยเรื่องนี้ เบื้องต้นคลังและ บสย.ตอบรับแล้ว เพราะไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรง จะหนักก็แค่เรื่องการลดค่าธรรมเนียม เพราะรัฐต้องหารายได้อื่นมาชดเชยให้"นายสรสิทธ์ กล่าว

นายสรสิทธิ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อ ธปท.ว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ 18 พ.ค.-18 ส.ค.52 มีประชาชนร้องเรียนเข้ามาทั้งหมดจำนวน 1,273 เรื่อง โดย 77% ของเรื่องร้องทุกข์ทั้งหมด เป็นปัญหาไม่ได้การอนุมัติสินเชื่อ

รองลงมาคือพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินจำนวน 101 เรื่อง ปัญหาดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 100 เรื่อง ปัญหาสถาบันการเงินไม่รับโครงสร้างหนี้ 84 เรื่อง และขอให้ทางศูนย์ฯหาแหล่งเงินกู้ให้ 82 เรื่อง โดยศูนย์ฯได้ประสานความช่วยเหลือแล้วเสร็จไป 1,169 เรื่อง หรือ 92% ของทั้งหมด ส่วนที่เหลือ 104 เรื่อง หรือ 8% กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

ทั้งนี้ ศูนย์ฯจะขยายเวลาการดำเนินงานออกไปจนถึงต้นปี 53 จากที่กำหนดไว้ปลาย 52 และจะขยายบทบาทการเป็นตัวกลางในการเจรจาประนอมหนี้ระหว่างสถาบันการเงินกับลูกหนี้ เพื่อปิดความเสี่ยงปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดบริการได้ในเดือนต.ค.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ