นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานพร้อมให้การสนับสนุนภาคเอกชนที่สนใจจะพัฒนาด้านพลังงานทดแทน โดยใช้กลไกจากกองทุนเทคโนโลยีสะอาด หรือ Clean Technology Fund(CTF) ที่จัดตั้งขึ้นโดยธนาคารโลก(World Bank) ซึ่งประเทศไทยจะได้รับวงเงินกู้ราว 13,600 ล้านบาท
โดยความคืบหน้าล่าสุดขณะนี้ได้ข้อสรุปการกำหนดรูปแบบการใช้วงเงินแล้ว แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.กองทุน CTF จะให้เงินกู้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ในวงเงิน 37,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการที่พร้อมจะลงทุนด้านพลังงานทดแทน
2.ปล่อยกู้โดยตรงให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน วงเงิน 38,000 ล้านบาท โดยขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) 3.เปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปกู้ผ่านบริษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) เพื่อปล่อยกู้ต่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในกิจการด้านพลังงานทดแทนต่อไป
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีโครงการลงทุนด้านพลังงานทดแทนที่เตรียมจะใช้เงินลงทุนจากกองทุน CTF รวมแล้ว ประกอบด้วย โครงการลงทุนจาก กฟผ.ในการพัฒนาพลังงานลม 128 เมกกะวัตต์ และพลังงานทดแทนอื่นๆ ได้แก่พลังงานแสงอาทิตย์ ขยะ และพลังน้ำ, โครงการลงทุนของ กฟภ.ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดชุมชน(Gasification) 100 เมกกะวัตต์ และการปรับปรุงประสิทธิภาพของหลอดไฟฟ้าสาธารณะ รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล(Gasification) โดยการสนับสนุนจากกรมพัฒนาที่ดิน กำลังการผลิต 144 เมกกะวัตต์
นอกจากนี้ ยังมีโครงการจากภาคเอกชนที่ให้ความสนใจผลิตพลังงานแสงอาทิตย์อีก 90 เมกกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดคาดว่าจะสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานทดแทนได้ทั้งหมด 672 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 75,550 ล้านบาท และสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(CO2)ได้ 3.62 ล้านตันต่อปี
"กระทรวงพลังงานจะพิจารณาแผนการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน ก่อนนำเสนอเวิลด์แบงค์ต่อไป ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในด้านพลังงานทดแทน สอดคล้องกับแผนแม่บทพลังงานทดแทน 15 ปีของประเทศ ซึ่งเหล่านี้จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หากมีการลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสมและในช่วงเวลาที่เหมาะสม" นพ.วรรณรัตน์ กล่าว