(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์เผย GDPช่วง Q2/52ติดลบ 4.9% ฟื้นจาก Q1/52,ทั้งปีติดลบ 3.0-3.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 24, 2009 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)แถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2/52 ผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ติดลบ 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งชะลอการหดตัวลงจากไตรมาส 1/52 ที่ติดลบ 7.1% โดยหากเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสจะพบว่าจีดีพีขยายตัว 2.3% ส่วนจีดีพีครึ่งปีแรกติดลบ 6.0%

"เศรษฐกิจไทยผ่านช่วงถดถอยที่สุดไปแล้ว และเริ่มเห็นสัญญาการปรับตัวที่ดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 สัญญาณบวกเกิดจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเร่งตัวขึ้น การผลิตเริ่มปรับตัวในทางที่ดี การนำเข้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น"นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สภาพัฒน์ ระบุ

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นและมีสัญญาณว่าได้ผ่านช่วงถดถอยที่สุดในไตรมาสแรก แต่การฟื้นตัวต้องใช้เวลานานและมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ง่าย เนื่องจากการว่างงานอยู่ในระดับสูง การลงทุนฟื้นตัวช้า และภาคการเงินยังอ่อนแอ

สัญญาณบวกในไตรมาสสอง ได้แก่ การฟื้นตัวของการส่งออกเนื่องจากมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามา การใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสแรก การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ภาคการก่อสร้างเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น การนำเข้าเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่มีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจเอกชน ทำให้การผลิตยังคงหดตัวในหลายสาขา เนื่องจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รวมทั้งราคาและปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง

อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีทั้งในส่วนของในประเทศและต่างประเทศ แต่เสถียรภาพภายในประเทศต้องระมัดระวังผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสสองหดตัวลง 2.8% เนื่องจากการขยายเวลามาตรการลดค่าครองชีพให้ประชาชน และนโยบายเรียนฟรี 15 ปี, ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลง, ราคาสินค้าหมวดอาหารลดลง, ความต้องการสินค้าและบริการลดลง

ขณะที่การจ้างงานอยู่ที่ 37.64 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เสถียรภาพด้านต่างประเทศมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,293 ล้านดอลลาร์ และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ณ สิ้น ก.ค.52 อยู่ที่ 123.45 พันล้านดอลลาร์

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปีหดตัว 6.0% แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยมีโอกาสกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสสุดท้าย เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลดีต่อการส่งออก, การใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น, การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณที่เหลือในปีงบ 52 และต่อเนื่องงบปี 53, ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยไม่เกิน 65 ดอลลาร์/บาร์เรล, การพยุงราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำ, การขยายสินเชื่อให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการมากขึ้น และความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจเอกชนดีขึ้น

"ฐานเศรษฐกิจที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายปี 51 จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายกลับมาขยายตัวเป็นบวก" นายอำพน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ