ประธานธนาคารกลางสหรัฐและยุโรปเร่งเดินหน้าหาทางปฏิรูประบบการเงินโลกเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หวั่นเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในภาคธุรกิจธนาคารที่เผชิญวิกฤตการณ์ครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ใช้โอกาสในการประชุมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเวทีหารือเรื่องการกำหนดมาตรการสกัดความเสี่ยง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจท้าทายครั้งใหญ่ของธนาคาร ขณะที่นายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรปมองว่า เค้าลางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมื่อช่วงที่ผ่านมายังไม่ชัดเจนพอที่จะมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนที่ผู้นำจากกลุ่มประเทศ G20 จะเข้าร่วมประชุมในวันที่ 4-5 กันยายนนี้เพื่อหารือถึงความพยายามในการป้องกันวิกฤตการเงินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของธนาคารต่างกังวลว่า ปัจจัยทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดข้อบังคับต่างๆอาจไม่มีอิทธิพลมากนัก ในยามที่ตลาดสินเชื่อเริ่มมีเสถียรภาพและภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยเริ่มคลี่คลาย
มาร์ก เกิร์ทเลอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กกล่าวว่า "ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือปัจจัยทางการเมือง รวมถึงความยุ่งยากในการกำหนดมาตรฐานใหม่ๆในตลาด"
ด้านเวนย์ สวอน รัฐมนตรีคลังออสเตรเลียกล่าวว่า ที่ประชุม G20 จะร่วมกันแก้ไขข้อบังคับเพื่อยกเครื่องระบบการเงินทั่วโลกและจะให้ความร่วมมือในการกระตุ้นการฟื้นตัวของประเทศกำลังพัฒนา หลังจากที่มาตรการฉุกเฉินของเฟด และธนาคารยุโรปรวมถึงประเทศอื่นๆช่วยคลี่คลายความตึงเครียดในตลาดสินเชื่อและช่วยกระตุ้นตลาดเงินให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้ดัชนี Standard & Poor’s 500 พุ่ง 51% นับตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่ดิ่งลง 38.5% ในปีที่แล้ว
ด้านผู้ว่าการธนาคารกลางอิสราเอลแนะว่า ระบบธนาคารทั่วโลกจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆในอนาคต โดยเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายควรพิจารณาหาข้อจำกัดเรื่องขนาดของธนาคารและกำหนดช่องทางการควบคุมการทำธุรกรรมซื้อขายที่เหมาะสม