ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์พุ่งเทียบยูโร จากกระแสคาดตัวเลขใช้จ่ายผู้บริโภคชะลอตัว

ข่าวต่างประเทศ Tuesday August 25, 2009 07:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24 ส.ค.) เนื่องจากมีกระแสคาดการณ์ว่าตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง เนื่องจากอัตราว่างงานที่พุ่งขึ้นยังคงกดดันให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ระบุว่าภาคการธนาคารในสหรัฐอาจยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ

บลูมเบิร์กรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้น 0.18% เมื่อเทียบกับยูโรที่ 1.4294 ยูโรต่อดอลลาร์ จากระดับ 1.4320 ยูโรต่อดอลลาร์ และพุ่งขึ้น 0.55% เมื่อเทียบกับเงินปอนด์ที่ 1.6415 ปอนด์ต่อดอลลาร์ จากระดับ 1.6505 ปอนด์ต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้น 0.12% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 94.480 เยนต่อดอลลาร์ จากระดับ 94.370 เยนต่อดอลลาร์ และพุ่งขึ้น 0.33% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.0615 ฟรังค์ต่อดอลลาร์ จากระดับ 1.0580 ฟรังค์ต่อดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.35% แตะที่ 0.8376 ดอลลาร์สหรัฐต่อดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8347 ดอลลาร์สหรัฐต่อดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 0.29% แตะที่ 0.6847 ดอลลาร์สหรัฐต่อดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6827 ดอลลาร์สหรัฐต่อดอลลาร์นิวซีแลนด์

ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคประจำเดือนก.ค.จะเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากรัฐบาลสหรัฐประกาศใช้นโยบายรถเก่าแลกรถใหม่ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคเดือนก.ค.จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงเมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.ที่พุ่งขึ้น 0.4% โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวในวันที่ 28 ส.ค.นี้

ไนเจล กัลท์ นักวิเคราะห์จาก IHS Global Insight กล่าวว่า นโยบายรถเก่าแลกรถใหม่ของรัฐบาลสหรัฐช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ภายในประเทศพุ่งขึ้นในเดือนก.ค. อย่างไรก็ตาม อัตราว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นยังคงทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ลดการใช้จ่ายสินค้าบางประเภท อาทิ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่ประธานเฟดได้แสดงความกังวลว่าอัตราการปล่อยกู้ในภาคธนาคารอาจจะยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะสร้างความยากลำบากให้กับภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่ต้องการกู้เงิน สถานการณ์ดังกล่าวอาจขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอาจทำให้ตัวเลขว่างงานพุ่งสูงขึ้นอีก พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลใช้นโยบายกระตุ้นการไหลเวียนของสินเชื่อเพื่อให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความคล่องตัวมากขึ้น

"แม้เราสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดไปได้ แต่ยังมีความท้าทายอีกมากมายที่รอเราอยู่ข้างหน้า สหรัฐและทั่วโลกต้องร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน หากยังปล่อยให้ภาวะตึงตัวเกิดขึ้นในตลาดการเงินโลกต่อไป สถาบันการเงินก็ต้องขาดทุนและประชาชนก็เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่บั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งสิ้น" เบอร์นันเก้กล่าวในที่ประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ