นายจอห์น ลิปสกี้ รองผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า มีสัญญาณบ่งชี้ที่ "ชัดเจน" ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้น และคาดว่าธนาคารกลางหลายแห่งจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
"มีสัญญาณบ่งชี้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ผมคาดว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะไม่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ไว้นานนัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จนกว่าตลาดเงินและตลาดทุนจะฟื้นตัว แต่จนถึงขณะนี้ก็มีสัญญาณในด้านบวกว่าตลาดหุ้นและตลาดสินเชื่อเริ่มฟื้นตัว" ลิปสกี้กล่าว
ลิปสกี้ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มที่คือการใช้มาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลและการลงทุนภาคเอกชน พร้อมกับเตือนว่าอัตราการออมที่สูงขึ้นในสหรัฐจะส่งผลให้ดีมานด์การส่งออกสินค้าในภูมิภาคเอเชียลดน้อยลง โดยตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคประจำเดือนพ.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% แต่อัตราการออมส่วนบุคคลพุ่งขึ้นแตะระดับ 6.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี และรายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 1.4% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.3%
ทั้งนี้ ลิปสกี้มองว่า อัตราการออมส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว แต่อาจทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าหากผู้บริโภคมีการออมมากกว่าการใช้จ่าย ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่ขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้
การแสดงความคิดเห็นของรองผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟมีขึ้นหลังจากเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในที่ประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ "ระยะฟื้นตัว" แล้ว และคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในไม่ช้านี้ หลังจากเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงและถูกกระทบหนักสุดจากวิกฤตการณ์การเงิน
"กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐและประเทศอื่นๆทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว และคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้ หลังจากเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงในปีที่แล้ว นอกจากนี้ ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกได้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดไปแล้ว ซึ่งนับจากนี้เศรษฐกิจจะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว" เบอร์นันเก้กล่าว