In Focusตรวจสุขภาพเศรษฐกิจโลกครึ่งปีแรก วินิจฉัยอาการ... รอดตาย หรือ ร่อแร่

ข่าวต่างประเทศ Tuesday August 25, 2009 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผ่านมาครึ่งค่อนทางแล้วสำหรับปี 2552 ปีที่รัฐบาลหลายประเทศพยากรณ์ล่วงหน้าว่าจะเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่ดำดิ่งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

เท้าความกลับไปยังจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ได้เริ่มปรากฏเค้าลางมาตั้งแต่ช่วงกลางปีพ.ศ.2550 เมื่อ "วิกฤตซับไพรม์" หรือการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ให้กับลูกหนี้ที่ขาดความน่าเชื่อถือ ได้จุดปะทุขึ้นในสหรัฐอเมริกา ผลพวงของวิกฤตซับไพรม์ลุกลามอย่างรวดเร็วในตลาดการเงิน ทำให้สถาบันการเงินต่างๆระส่ำระสายไปตามๆกัน และที่ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายก็คือการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2551 เป็นการปิดฉากของวาณิชธนกิจอายุยาวนานถึง 158 ปีที่สร้างความสั่นสะเทือนเลือนลั่นต่อระบบสถาบันการเงินทั่วโลก

นับจากนั้น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งมีต้นตออยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้แผ่ขยายกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆทั่วโลกต้องเผชิญชะตากรรมร่วมกันในชั่วพริบตา หลายประเทศเผชิญภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (หรือ GDP ติดลบต่อกัน 2 ไตรมาส) ครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ทำให้รัฐบาลต้องงัดกลยุทธ์ต่างๆมารับมือและแก้ปัญหา ด้วยการทุ่มงบประมาณ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่กำลังทรัพย์ของท้องพระคลัง รวมไปถึงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ทั้งการลดดอกเบี้ย การกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อเป็นต้น ขณะเดียวกันก็รอลุ้นให้มาตรการต่างๆเหล่านั้นเห็นผลโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

และดูเหมือนในที่สุด รัฐบาลหลายประเทศก็เริ่มจะยิ้มออกกันแล้ว เมื่อตัวเลข GDP ในไตรมาสสองที่หลายประเทศทยอยเปิดเผยตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือน บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจประเทศต่างๆเริ่มโผล่พ้นน้ำขึ้นมาหายใจหายคอกันได้แล้ว แถม “การรอดตาย” ในครั้งนี้ยังเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายเล็กน้อย เพราะก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเป็นการยากที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากจุดตกต่ำสุดเพียงชั่วข้ามปี

ว่าแต่ GDP คืออะไร และทำไมรัฐบาลทั่วโลกจึงใช้ GDP เป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

GDP - ดัชนีวัดความก้าวหน้า

GDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product หรือแปลเป็นไทยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หมายถึง มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ และเป็นตัววัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจระบบตลาด ได้แก่ การบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายของภาครัฐ และการส่งออกและนำเข้า ผลรวมของจีดีพีจะเป็นตัวบ่งชี้ให้นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนได้เห็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสำหรับรัฐบาลเกือบทุกประเทศทั่วโลกได้ถืออัตราการเติบโตของจีดีพีเป็นเป้าหมายการบริหารแผ่นดินและเป็นตัวชี้วัดความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของประเทศ จีดีพีจึงได้กลายเป็นมาตรวัดผลิตภาพที่บ่งชี้ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ดังนั้นตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจอื่นใดทั้งหมด จึงเป็นข้อมูลที่สัมพันธ์กับจีดีพีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ว่าแล้ว มาไล่เรียงดูว่าเศรษฐกิจประเทศใดบ้างที่ถูกเข็นออกจากห้องไอซียูมาที่ห้องพักฟื้นแล้วบ้าง

สหรัฐอเมริกา

เริ่มกันที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโดมิโน่ตัวแรกที่ล้มลงจนพาลให้ประเทศอื่นๆซวนเซและล้มครืนลงตามไปด้วย กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า จีดีพีไตรมาส 2 ของสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก หดตัวลงในอัตรา 1% ต่อปี น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะหดตัว 1.5% นับเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีของสหรัฐ ใกล้ที่จะสิ้นสุด

จอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีนักลงทุนชื่อก้องโลก กล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า เศรษฐกิจสหรัฐได้หลุดพ้นจากจุดตกต่ำสุดแล้วอย่างแท้จริง และจะกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสปัจจุบัน (ไตรมาส 3) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 7.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในที่ประชุมประจำปีของเฟดว่า เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ "ระยะฟื้นตัว" แล้ว และคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในไม่ช้านี้

ด้านพอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2551 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวและเชื่อว่าผลพวงเชิงบวกของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รัฐบาลสหรัฐนำมาใช้นั้นจะเห็นผลมากขึ้นในไตรมาสนี้

เยอรมนี ฝรั่งเศส

เยอรมนีและฝรั่งเศส 2 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของยุโรป สร้างเซอร์ไพรส์เมื่อเปิดเผยว่า เศรษฐกิจของประเทศสามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งเหนือความคาดหมาย

โดยคริสติน ลาการด์ รัฐมนตรีกระทรวงคลังฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของฝรั่งเศสในไตรมาส 2 ปีนี้ขยายตัว 0.3% สวนทางกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจะหดตัวลง 0.2%

ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีรายงานว่า ตัวเลขจีดีพีของประเทศขยายตัวขึ้น 0.3% เช่นกัน หลังจากที่ติดลบ 3.5% ในไตรมาสแรก และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะหดตัว 0.2% ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลทั่วโลกประกาศใช้ในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยหนุนยอดส่งออกเยอรมนีให้ฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับแผนฟื้นเศรษฐกิจมูลค่า 8.5 หมื่นล้านยูโรของนางแอลเจลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กำลังกระตุ้นตัวเลขการใช้จ่ายภายในประเทศ

จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น

ข้ามมาที่ฝากฝั่งตะวันออกกันบ้าง ที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น จีน ซึ่งถือเป็นที่พึ่งในยามยากของประเทศน้อยใหญ่ทั้งในภูมิภาคเอเชียและชาติตะวันตก สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า เศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสสองขยายตัว 7.9% จากปีก่อนหน้านี้ หลังจากที่ขยายตัว 7.1% ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นผลมาจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวนของนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า และยอดการปล่อยเงินกู้ที่พุ่งสูงขึ้น

การขยายตัวแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีนยังแผ่อิทธิพลไปถึงบ้านพี่เมืองน้อง อย่าง ฮ่องกง โดยจีดีพีในไตรมาสสองของฮ่องกงขยายตัว 3.3% จากช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งการขยายตัวของจีดีพีในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจฮ่องกงหลุดพ้นภาวะถดถอยแล้ว เนื่องจากนับเป็นการขยายตัวครั้งแรก หลังจากที่เศรษฐกิจหดตัว 4 ไตรมาสติดต่อกัน

ขณะที่ ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสสอง เพิ่มขึ้น 2.3% จากช่วงไตรมาสแรกที่ขยับขึ้นเล็กน้อย 0.1% นับเป็นอัตราการขยายตัวที่เร็วที่สุดตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2546 จากอานิสงส์ของการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ อาทิ การทำข้อตกลงสว็อปค่าเงินดอลลาร์กับสหรัฐ การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบธนาคาร การกระตุ้นการใช้จ่ายและจัดตั้งเงินทุนให้ธนาคารพาณิชย์ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2%

ด้านสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 2 ขยายตัวในอัตรา 3.7% ต่อปี หรือ 0.9% ต่อไตรมาส ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส สำหรับปัจจัยเกื้อหนุนการฟื้นตัวครั้งนี้มาจากตัวเลขภาคส่งออก ซึ่งได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ตลอดจนการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่นายกรัฐมนตรี ทาโร อาโสะ กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีส่วนช่วยยุติภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในที่สุด

สิงคโปร์ อินโดนีเซีย

สำหรับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของไทยอย่าง สิงคโปร์ ก็ฝ่าฟันสึนามิทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน เมื่อจีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวเกินคาด 20.7% ต่อปี หลังจากติดลบ 12.2% ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นสถิติที่ขยายตัวมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ที่ 20.4% เพราะได้รับแรงหนุจากภาคการผลิตและภาคบริการที่ฟื้นตัวขึ้น ปัจจัยดังกล่าวช่วยหนุนเศรษฐกิจสิงคโปร์ให้ฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่เผชิญกับภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สิงคโปร์ได้รับเอกราชเมื่อ 44 ปีที่แล้ว

และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศหนึ่งที่สามารถเป็นตัวแทนของอาเซียนไปเชิดหน้าชูตาอยู่ในเวทีโลกได้อย่างสง่าผ่าเผยก็คือ อินโดนีเซีย โดยสามารถทะยานเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่น่าจับตามองที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 ทัดเทียมกับกลุ่ม BRIC ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซียเปิดเผยว่า เศรษฐกิจของประเทศขยายตัว 4% ในไตรมาส 2 ซึ่งถือเป็นการขยายตัวรวดเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นช่วยหนุนรายได้ในภาคชนบท และการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ปราศจากเหตุการณ์รุนแรงก็ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุน

ประเทศไทย

ปิดท้ายด้วยเรื่องน่ายินดีกับประเทศไทยของเราที่กลายเป็นคนไข้รายล่าสุดที่ทุเลาอาการป่วยจากพิษเศรษฐกิจ จนสามารถกลับมาอยู่ในระยะพักฟื้น โดยวานนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2/52 ว่า ผลผลิตมวลรวมในประเทศติดลบ 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งชะลอการหดตัวลงจากไตรมาส 1/52 ที่ติดลบ 7.1% โดยหากเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสจะพบว่าจีดีพีขยายตัว 2.3% ส่วนจีดีพีครึ่งปีแรก ติดลบ 6.0%

"เศรษฐกิจไทยผ่านช่วงถดถอยที่สุดไปแล้ว และเริ่มเห็นสัญญาการปรับตัวที่ดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 สัญญาณบวกเกิดจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเร่งตัวขึ้น การผลิตเริ่มปรับตัวในทางที่ดี การนำเข้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น" สภาพัฒน์ระบุ
อาการยังน่าเป็นห่วง

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ออกมารักษาตัวต่อที่ห้องพักฟื้น ยกตัวอย่างเช่น อังกฤษ สเปน และรัสเซีย เป็นต้น

โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษรายงานว่า เศรษฐกิจของประเทศหดตัว 0.8% ในระหว่างเดือนเม.ย.-มิ.ย. นับเป็นการหดตัวเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกันแล้ว หลังจากที่หดตัว 2.4% ในไตรมาสแรกปีนี้ ทั้งนี้ แม้ตัวเลขจีดีพีล่าสุดจะแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจอังกฤษหดตัวในอัตราที่ช้าลง แต่ตัวเลขดังกล่าวย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบเพียง 0.3% จีดีพีไตรมาสสองยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า อังกฤษยังไม่หลุดพ้นจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และคาดว่าการฟื้นตัวจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงช่วงปลายปีนี้

ด้านสเปนเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 2 หดตัวลง 1.0% มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า จะหดตัวเพียง 0.9% ซึ่งปัญหาหนักอกของสเปนก็คืออัตราว่างงาน โดยสเปนมีอัตราว่างงานสูงสุดในยูโรโซนถึง 18.7%

ส่วนรัสเซียดูท่าจะเป็นประเทศที่อาการร่อแร่ที่สุด โดยจีดีพีไตรมาส 2 ดิ่งหนักเป็นประวัติการณ์ 10.9% ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ทั้งอัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ผู้บริโภค นอกจากนี้ การปล่อยกู้ของธนาคารยังประสบภาวะชะงักงัน ขณะที่รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เร็วพอ

“กูรู” ยังหวั่น เศรษฐกิจโลกฟื้น หรือ ฟุบ

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลจีดีพีส่วนใหญ่ออกมาในทิศทางที่เป็นบวก แต่นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนก็ยังคลางแคลงว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนั้นยั่งยืนแน่นอน หรือ เป็นเพียงความนิ่งสงบก่อนที่พายุลูกใหญ่ระลอกใหม่จะมาเยือน

แทด เดอฮาเวน นักวิเคราะห์จากสถาบัน CATO ในวอชิงตันดีซี กล่าวว่า เศรษฐกิจอาจดีดตัวขึ้นก็จริง แต่เพียงแค่เล็กน้อยและในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น "เศรษฐกิจอาจดีดตัวเล็กน้อยและเคลื่อนไหวอย่างเรื่อยๆ หรืออาจดีดตัวก่อนที่จะทรุดลงอีกครั้ง" เขากล่าว พร้อมระบุว่าปัญหาคือการที่รัฐบาลเน้นใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในระยะสั้น ซึ่งไม่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างนโยบายรถเก่าแลกซื้อรถใหม่ (ของรัฐบาลสหรัฐ) ก็อาจกระตุ้นยอดขายรถได้เพียงระยะสั้น และเมื่อเงินทุนหมดโครงการก็ต้องพับไป นอกจากนั้นยังมีปัญหาเศรษฐกิจอีกมากที่จะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างปัญหาตัวเลขขาดดุลงบประมาณที่พุ่งสูงและการกู้ยืมเงินที่มากเกินไป

ในขณะเดียวกัน ดีน เบเกอร์ ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์วิจัยนโยบายและเศรษฐกิจในวอชิงตันดีซี กล่าวว่า "ผมไม่ได้ประทับใจกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาเลย" พร้อมอ้างถึงตัวเลขการลงทุนและการส่งออกว่าเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยดึงเศรษฐกิจขึ้นจากภาวะถดถอย แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าตัวเลขดังกล่าวดีขึ้น ส่วนอัตราว่างงานที่พุ่งสูงก็จะยังกดดันตลาดต่อไป

วานนี้ นายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่าของจีน เตือนว่าเศรษฐกิจของประเทศยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนรอบด้าน แม้ว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศจะมีสัญญาณการขยายตัวที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่การฟื้นตัวยังคงกระจัดกระจาย ไร้ทิศทาง และขาดความสมดุล" ถ้อยแถลงของนายกฯจีนมีขึ้นหลังจากที่ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตดิ่งลงมากกว่า 20% ในรอบสองสัปดาห์ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนส่วนใหญ่กังวลว่ารัฐบาลจีนจะควบคุมอัตราการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์เพื่อยับยั้งภาวะฟองสบู่

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวในรายงานที่เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า การฟื้นตัวเพิ่งเริ่มต้นขึ้น พร้อมกับเตือนว่า รูปแบบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่คาดเดาได้ในอดีตอาจไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันซึ่งเลวร้ายที่สุดในรอบ 7 ทศวรรษได้ และกล่าวด้วยว่า การดีดตัวในขณะนี้ ยัง “ห่างไกลจากสภาวะปกติ”

สำหรับปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ยังไม่มั่นใจได้อย่างเต็มร้อยเกี่ยวกับความยั่งยืนของเศรษฐกิจ ก็คืออัตราว่างงาน ตัวเลขจ้างงาน รวมถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ

โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา เตือนว่า สหรัฐยังมีความท้าทายนานับประการรออยู่เบื้องหน้า และยังมีงานให้ทำอีกมาก "เรายังต้องไต่เขาที่สูงชัน และเรายังต้องเดินทางอีกไกล” ผู้นำสหรัฐกล่าว “เรายังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว ในขณะที่ยังมีคนถูกเลิกจ้าง และเราจะไม่หยุดพักจนกว่าชาวอเมริกันทุกคนจะมีงานทำ"

ทั้งนี้ มีหลายประเทศที่เปิดเผยจีดีพีไตรมาสสองไปแล้ว แต่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ และยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังจะเปิดเผยตัวเลขจีดีพีสำหรับไตรมาสเดือนเม.ย.-มิ.ย. อาทิ มาเลเซีย ซึ่งมีกำหนดการเปิดเผยในวันพุธนี้ อินเดียในวันศุกร์ที่ 29 ส.ค.นี้ และออสเตรเลียในวันอังคารที่ 4 ก.ย. และไม่ว่าข้อมูลเศรษฐกิจจากนี้จะออกมาเป็นเช่นไร เชื่อว่าคงไม่มีอะไรเหนือบ่ากว่าแรงหากรัฐบาลทั่วโลกร่วมมือกันฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปด้วยกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ