รมว.คมนาคม เผยผู้ประกอบการรุมขอเข้าใช้ประโยชน์ในสนามบินดอนเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 25, 2009 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการบินจำนวนมากให้ความสนใจติดต่อ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) เพื่อขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ในท่าอากาศยานกรุงเทพ

สำหรับผู้ประกอบการที่แสดงความสนใจเข้ามา ได้แก่ โครงการอาคารผู้โดยสารสำหรับอากาศยานส่วนบุคคลและอากาศยานเช่าเหมาลำขนาดเล็ก(PRIVATE JET AND AIR TAXI TERMINAL) ซึ่งมีบริษัทให้ความสนใจหลายราย เช่น บริษัท สยามเวิล์ดแอร์เวยส์ จำกัด, บริษัท โรยัลแอร์พอร์ต เซอร์วิสเซส และบริษัท ไทยแลนด์อีลิท จำกัด โดยดัดแปลงอาคารผู้โดยสารบริเวณห้องรับรองพิเศษ(VIP) เพื่อจัดทำเป็นอาคารบริการผู้โดยสารที่เดินทางโดยอากาศยานส่วนบุคคล พร้อมกับบริการด้านพิธีศุลกากร พิธีการตรวจคนเข้าเมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ประกอบการ คาดจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

โครงการซ่อมบำรุง LANDING GEAR ของอากาศยานลำตัวแคบ ซึ่งมีบริษัท EUROPEAN AERONAUTIC DEFENSE & SPACE(EADS) สนใจลงทุน ซึ่งในภูมิภาคนี้มีอากาศยานขนาด 150 ที่นั่งให้บริการเป็นจำนวนมาก โดยทำการบินในระยะสั้นจึงมีอัตราการใช้และมีการขึ้น-ลงบ่อยครั้งในแต่ละวัน จำเป็นต้องสับเปลี่ยนและซ่อมบำรุง LANDING GEAR เป็นจำนวนมาก การมีศูนย์ซ่อมบำรุง LANDING GEAR ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองจะช่วยให้สายการบินต่างๆ ในภูมิภาคนี้สามารถสับเปลี่ยนและซ่อมบำรุงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

โครงการบริหารจัดการอะไหล่อากาศยานในภูมิภาค ซึ่งมีบริษัท SKY TECH จำกัด สนใจลงทุน โดยจะจัดตั้งศูนย์บริการอะไหล่สำหรับซ่อมบำรุงอากาศยานของสายการบินต่างๆ ในภูมิภาคนี้ โดยผู้ประกอบการจะสำรองอะไหล่ไว้เพื่อจำหน่ายให้สายการบิน ซึ่งจะช่วยให้สายการบินลดต้นทุนในการสำรองและจัดเก็บอะไหล่ได้ โดยผู้ประกอบการจะดำเนินการร่วมกับ บมจ.การบินไทย(THAI)

โครงการซ่อมบำรุงและดูและรักษาเครื่องยนต์อากาศยานขนาดกลางและเล็ก ซึ่งมีบริษัท เอเชี่ยน แอร์โรว์สเปซ เซอร์วิส จำกัด และบริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด สนใจลงทุน

โครงการศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ(INTERNATIONAL FREE TRADE ZONE) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้ได้ใบอนุญาตในการบริหารพื้นที่ในลักษณะที่เป็น CUSTOM FREE ZONE และ TAX FREE ZONE ซึ่งท่าอากาศยานดอนเมืองมีพื้นที่ทั้งลานจอดอากาศยานและอาคารผู้โดยสาร สามารถจัดแสดงผลิตภัณฑ์ด้านการบินและการค้าขาย

และโครงการศูนย์ฝึกบินจำลอง ซึ่งมีบริษัท วีโลซีที จำกัด สนใจลงทุน โดยในภูมิภาคนี้มีสายการบินขนาดกลางถึงขนาดเล็กจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน และสายการบินเหล่านี้ยังไม่มีเครื่องฝึกบินจำลองเป็นของตนเอง จำเป็นต้องส่งนักบินเข้ารับการฝึกบินในยุโรปและสหรัฐ จึงเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้รับรายงานผลการย้ายเที่ยวบินของ THAI จากท่าอากาศยานดอนเมืองไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบว่าช่วยให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายได้ปีละประมาณ 532 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าจ้างบริการทำความสะอาด ค่าใช้จ่ายในการนำเครื่องเปล่าบินระหว่าง 2 ท่าอากาศยาน จำนวน 166 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรที่สามารถลดค่าล่วงเวลาและค่าจ้างแรงงานภายนอก จำนวน 366 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ