หลังจากประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐ เสนอชื่อนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ดำรงตำแหน่งประธานเฟดเป็นสมัยที่ 2 นักวิเคราะห์หลายคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการตัดสินใจดังกล่าว โดยนายลิล แกรมลีย์ อดีตผู้ว่าการเฟดซึ่งปัจจุบันผันตัวเองมาที่เป็นที่ปรึกษาบริษัท Soleil Securities Corp ในนิวยอร์ก กล่าวว่า เบอร์นันเก้จะต้องทำงานหนักขึ้นในสมัยที 2 เพราะจะต้องโน้มน้าวคณะกรรมการคนใหม่ๆของเฟดให้มุ่งเน้นเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจพร้อมๆกับการควบคุมเงินเฟ้อ
"ในอีก 2 ปีข้างหน้าเฟดต้องมุ่งเน้นเรื่องการขยายตัว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เบอร์นันเก้จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการบอร์ดที่มีมุมมองเดียวกัน" แกรมลีย์กล่าว
เดวิด โจนส์ อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของเฟดกล่าวแสดงความเห็นว่า "สถานะของเฟดในขณะนี้เหมือนการยืนอยู่บนชั้นน้ำแข็งบางๆ เพราะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการที่มีความคิดเห็นต่างกัน ดังนั้นเบอร์นันเก้ต้องประสานความต่างเหล่านี้ให้เป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ"
ด้านริชาร์ด เบอร์เนอร์ หัวหน้านักวิเคราะห์จากมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวว่า การที่โอบามาตัดสินใจเลือกเบอร์นันเก้ให้ดำรงตำแหน่งประธานเฟดต่ออีกสมัยก็เพราะต้องการรักษาทีมงานที่มีส่วนสำคัญในการรับมือกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งทีมงานดังกล่าวรวมถึงนายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลัง, นายราห์ม เอ็มมานูเอล หัวหน้าคณะทำงาน และนายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ
ขณะที่ริชาร์ด เดคาเซอร์ หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Woodley Park Research ในวอชิงตัน กล่าวว่า เบอร์นันเก้สืบทอดเจตนารมณ์ด้านการควบคุมเงินเฟ้อมาจากนายพอล วอล์คเกอร์ อดีตประธานเฟด จะต่างกันก็ตรงที่เบอร์นันเก้ทำงานหนักกว่าและตัดสินใจได้เฉียบขาดกว่า เพราะต้องเผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสกว่าวอล์คเกอร์
นอกจากนี้ แครอลี บูม นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กล่าวว่า เบอร์นันเก้เปรียบเสมือนลูกไก่ในกำมือของโอบามา และการที่โอบามาเลือกเบอร์นันเก้ก็เพราะไม่ต้องการให้ตลาดมีปฏิกริยาในด้านลบ เพราะที่ผ่านมานั้นการแสดงความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจของเบอร์นันเก้มักมีอิทธิพลต่อตลาด โดยล่าสุดในที่ประชุมประจำปีของเฟดที่รัฐไวโอมิง เมื่อเบอร์นันเก้ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ระยะฟื้นตัว ได้ช่วยหนุนดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กทะยานขึ้นกว่า 100 จุดทันที